ราชวิทยาลัยจิตแพทย์ฯ ระบุ แพทยสภายังคง “จิตแพทย์เด็ก” เป็นสาขาขาดแคลน พร้อมเผยปัญหาจิตแพทย์เด็กขาดแคลนหนัก ภาพรวมทั้งประเทศมีเพียง 192 คน ซ้ำส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในจังหวัดใหญ่ มี รพศ./รพท.ถึง 36 แห่ง ยังไม่มีจิตแพทย์เด็กประจำ ชี้ปัญหาขาดแคลนเหตุจากแพทย์สนใจเรียนน้อย ไม่สร้างรายได้มาก แถมต้องใช้เวลาเรียนต่อถึง 4 ปี ขณะที่ผู้บริหาร รพ.ส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญ ไม่มีทุนเรียนต่อ เตรียมหารือกรมสุขภาพจิต และ สธ. กำหนดเป็นสาขาเรียนโครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุนได้ เพื่อดึงจิตแพทย์เด็กทำงานในพื้นที่  

ศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล

ศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล ประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้สาขาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น แพทยสภายังกำหนดให้เป็นสาขาขาดแคลนเพื่อให้มีแพทย์เลือกเรียนสาขานี้เพิ่มเติม แต่ยังคงต้องเรียนเพิ่มพูนทักษะ 1 ปีก่อน เพื่อให้เรียนรู้ถึงการรักษาโรคทั่วไปที่เป็นการสนับสนุนการเรียน ทั้งนี้สถานการณ์ของจำนวนจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ยอมรับว่าเป็นสาขาที่ขาดแคลนค่อนข้างมาก ซึ่งจากข้อมูลของราชวิทยาลัยจิตแพทย์ฯ ในจำนวนโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) ที่ต้องมีจิตแพทย์เด็กประจำอยู่ มี รพ.ที่ยังไม่มีจิตแพทย์เด็กถึง 36 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 49 และเมื่อดูข้อมูลระดับจังหวัดพบว่า มี รพ.ใน 26 จังหวัดที่มีจิตแพทย์ประจำเพียงคนเดียว ซึ่งตามมาตรฐานแล้วโดยเฉลี่ยจะต้องมีจิตแพทย์เด็กประจำจังหวัดละ 2 คน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงได้

สำหรับภาพรวมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นทั้งประเทศ ข้อมูลเดือนมกราคม 2559 มีจิตแพทย์ 192 คน ถือว่าน้อยมาก ในจำนวนนี้อยู่ในระบบราชการ 148 คน และนอกระบบราชการ 44 คน

ศ.นพ.มาโนช กล่าวว่า สาเหตุของความขาดแคลน เนื่องจากมีแพทย์ที่สนใจเรียนน้อย ซึ่งแพทย์ที่เลือกเรียนสาขาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นได้ต้องเป็นผู้ที่สนใจจริงๆ เพราะนอกจากเป็นสาขาที่ไม่สร้างรายได้มากเมื่อเปรียบเทียบกับแพทย์สาขาอื่นๆ แล้ว ยังต้องใช้เวลาเรียนต่อถึง 4 ปี ขณะที่แพทย์สาขาอื่นใช้เวลาเพียง 3 ปี เนื่องจากจะต้องเรียนจิตเวชผู้ใหญ่ 2 ปีก่อน แล้วจึงเรียนจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น อีก 2 ปี เพราะปัญหาเด็กส่วนใหญ่มาจากปัญหาผู้ใหญ่ เช่น ถูกพ่อแม่ทิ้ง พ่อแม่ทะเลาะกัน ผู้ปกครองมีปัญหาด้านทัศนคติ เป็นต้น ทำให้ในการรักษาจึงต้องดูผู้ปกครองและครอบครัวด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

นอกจากนี้ผู้บริหารโรงพยาบาลเองไม่ได้ให้ความสำคัญเพียงพอ ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับสาขาอื่นที่คิดว่าสำคัญกว่า และมองสาขาจิตเวชเด็กว่าสามารถให้หมอเด็กดูแทนได้ ซึ่งในข้อเท็จจริงหมอเด็กดูแต่การรักษาโรคด้านร่างกายเท่านั้น แต่เรื่องจิตใจหมอเด็กดูไม่ได้

ศ.นพ.มาโนช กล่าวว่า การกระจายตัวเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของปัญหาขาดแคลน ซึ่งจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นส่วนใหญ่จะกระจุกอยู่ในเมืองใหญ่ โดยหลังจากที่แพทย์ใช้ทุนแล้วก็จะย้ายไปทำงานที่จังหวัดใหญ่ หรือย้ายไปทำงานยังโรงพยาบาลเอกชนเอง ส่งผลให้จังหวัดเล็กไม่มีจิตแพทย์เด็กประจำเลย ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในภาคอีสาน 20 จังหวัด มีเพียง 6 จังหวัดเท่านั้นที่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น แต่อีก 14 จังหวัดไม่มีจิตแพทย์เด็กฯ เลย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดใหญ่ โดยเฉพาะ กทม.เฉพาะที่โรงพยาบาลรามาธิบดีมีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นถึง 7-8 คนแล้ว

ดังนั้นราชวิทยาลัยจิตแพทย์ฯ จึงเตรียมที่จะหารือกรมสุขภาพจิต และกระทรวงสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังและเป็นระบบ โดยจะขอให้เด็กในโครงการ ODOD หรือโครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน สามารถเลือกเรียนสาขาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นได้ เนื่องจากหากเป็นเด็กที่มาจากพื้นที่เข้าเรียน จะทำให้มีจิตแพทย์เด็กคงทำงานอยู่ในพื้นที่ได้ 

“บ้านเรายังให้ความสำคัญต่อจิตเวชเด็กและวัยรุ่นน้อย ต่างกับต่างประเทศที่เน้นและให้ความสำคัญมาก ขณะที่ประชาชนเองได้ให้ความสำคัญในการพบจิตแพทย์ เนื่องจากตระหนักถึงความสำคัญของด้านจิตใจ ส่งผลให้สาขาจิตเวชได้รับการยอมรับทั้งจากวงการแพทย์เองและประชาชน และจัดเป็นสาขาแพทย์หลัก เพราะถือเป็นการดูแลคุณภาพของประชากรประเทศในอนาคต” ประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์ฯ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ห่วงการเข้าถึง “จิตเวชเด็กและวัยรุ่น” มีปัญหา หลัง “แพทยสภา” ยกเลิกเป็นสาขาขาดแคลน

ยันแพทยสภาไม่ได้ยกเลิก ‘จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น’ ออกจากสาขาขาดแคลน