ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชูระบบสุขภาพอำเภอ ที่ทำงานแบบประชารัฐ ช่วยประชาชนสุขภาพดีแบบมีส่วนร่วมและยั่งยืน ที่สำคัญบุคลากรสาธารณสุขที่ทำงานใกล้ชิดกับพื้นที่ ต้องมีค่านิยมและพฤติกรรมร่วมกัน ได้แก่ เป็นนายตัวเอง มีภาวะผู้นำ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางและต้องอ่อนน้อมถ่อมตน

วันที่ 23 มิถุนายน 2559 ที่ จ.ระยอง นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดประชุมวิชาการการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพระดับปฐมภูมิ ประจำปี 2559 จัดโดยชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศกว่า 1,000 คน ว่า รัฐบาลมีนโยบายปฏิรูประบบบริการสุขภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ตามแนวทางประชารัฐ  ที่จะร่วมกันพัฒนานโยบายด้านสุขภาพ เพื่อให้เกิดระบบสุขภาพที่ยั่งยืน ด้วยกลไกระบบสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System : DHS) ที่ทำงานเชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ อาสาสมัครสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่นๆ และประชาชนในพื้นที่ เพื่อจัดการปัญหาสุขภาพของพื้นที่ ด้วยเครือข่ายบริการที่มีคุณภาพ ประชาชนและชุมชนพึ่งตนเองได้ โดยดำเนินการไปพร้อมกับการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) 13 สาขาหลัก ที่เชื่อมโยงไร้รอยต่อ เบ็ดเสร็จภายในเครือข่ายบริการ บริการที่เท่าเทียม ทั่วถึง มีมาตรฐาน ใกล้บ้าน 

นพ.โสภณ กล่าวว่า ในปี 2559-2560 หรือภายใน 18 เดือนนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีเป้าหมายปฏิรูปด้านสาธารณสุข 10 เรื่องได้แก่ 

1.ตำบลจัดการสุขภาพแบบบูรณาการ 5 กลุ่มวัย ในตำบลต้นแบบ คือ กลุ่มแม่และเด็ก วัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน ผู้สูงอายุ 

2.ลดอุบัติเหตุ 

3.ระบบบริการสุขภาพ ลดป่วย ลดตาย ลดแออัด ลดเวลารอคอยในการส่งต่อ 

4.โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเริ่มจากลดผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง 

5.การบริหารจัดการ 

6.ระบบส่งเสริมสุขภาพอนามัยสิ่งแวดล้อม ระบบคุ้มครองผู้บริโภค ระบบป้องกันควบคุมโรค ระบบดูแลภาวะฉุกเฉิน 

7.มะเร็งท่อน้ำดีและพยาธิใบไม้ตับ 

8.การพัฒนากฎหมาย 

9.การพัฒนาการผลิตยา วัคซีน 

10.การเร่งรัดออกใบอนุญาตของ อย.

ทั้งนี้ ในการพัฒนาและปฏิรูประบบสุขภาพ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งด้านการแพทย์ ด้านการสาธารณสุข โดยมีภาคีเครือข่ายจากภาคประชาชนและองค์กรปกครองท้องถิ่น ที่สำคัญบุคลากรสาธารณสุขที่อยู่ในพื้นที่ที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ต้องมีค่านิยมและพฤติกรรมร่วมกัน ได้แก่ เป็นนายตัวเอง มีภาวะผู้นำ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางและต้องอ่อนน้อมถ่อมตน โดยพัฒนาไปพร้อมกับความเป็นเลิศ 4 ด้านคือ 

1.การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ไม่ให้ประชาชนเจ็บป่วย 

2.การจัดระบบบริการสุขภาพ 

3.การพัฒนาคน

และ 4.ระบบบริหารจัดการที่มีคุณธรรม ให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นองค์กรหลักด้านสุขภาพที่มีธรรมาภิบาล เสมอภาค และโปร่งใส และสมรรถนะของสาธารณสุขอำเภอในอีก 10 ปี เพื่อเป้าหมาย “ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน”