สาขาเทคโนโลยีมีเดีย มจธ.เสนอไอเดียเจ๋งพัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อการเดินทางของคนพิการทางสายตา ทำให้การใช้บริการขนส่งสาธารณะเป็นเรื่องง่าย ลบขีดจำกัดการออกมาใช้ชีวิตภายนอกของคนพิการ ระบุยังเป็นเพียงต้นแบบที่รอการต่อยอดจากภาครัฐ เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานจริงในสังคม
น.ส.รจเรข ทุ้ยมาก น.ส.อารีมน เสริมทรัพย์ และ น.ส.วรินดา เรืองวงษ์ เป็นนักศึกษาจากกลุ่มวิชาเอกเทคโนโลยีมีเดียชีวการแพทย์ สาขาเทคโนโลยีมีเดีย โครงการร่วมบริหารหลักสูตรมีเดียอาตส์และเทคโนโลยีมีเดีย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นกลุ่มเด็กที่เห็นปัญหาดังกล่าวจึงร่วมกันออกแบบและพัฒนาโปรเจกต์ที่ชื่อว่า “Blind Buddy แอพพลิเคชั่นช่วยเหลือคนพิการทางสายตาในการเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง”ขึ้น
อารีมน กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการพัฒนาผลงานว่าเป็นเรื่องที่เคยสัมผัสกับตัวเองมาหลายครั้ง “เวลาที่คนพิการทางสายตาจะขึ้นรถเมล์จะใช้วิธีตะโกนถามจากคนแถวนั้นว่ารถเมล์สายนั้นสายนี้มาหรือยัง บางครั้งมีคนใจดีช่วยบอก แต่ก็มีบางครั้งที่ไม่มีคนอยู่บริเวณป้ายรถเมล์เลย หรือบางครั้งเค้าจะเขียนใส่กระดาษแล้วถือไว้เผื่อว่าจะมีคนช่วยบอก หรืออย่างน้อยกระเป๋ารถเมล์ก็ช่วยเรียกให้ขึ้นรถได้
แต่ถึงคนพิการทางสายตาจะมีทางออกในการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง แต่พวกเราคิดว่ามันมีทางออกที่ดีกว่านี้ จึงออกแบบแอปพลิเคชั่นดังกล่าวขึ้นมา โดยเริ่มไปสำรวจข้อมูลที่มูลนิธิคอลฟีลด์เพื่อคนตาบอดในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ซึ่งเป็นคนพิการทางสายตาที่ต้องเดินทางโดยใช้บริการขนส่งสาธารณะเป็นประจำก็พบว่าสมาร์ทโฟนไม่ใช่เรื่องไกลตัวพวกเขา ดังนั้นการพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่ต้องใช้งานบนสมาร์ทโฟนก็น่าจะช่วยอำนวยความสะดวกได้ทางหนึ่ง”
ด้าน รจเรข อธิบายเสริมถึงวิธีการใช้งานว่า แอปพลิเคชั่นนี้เป็นการพัฒนาขึ้นบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ โดยใช้โปรแกรม Android Studio ในการออกแบบและจัดทำแอปพลิเคชั่นที่มีการทำงานกันระหว่าง Ibeacon และแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนเพื่อส่งและรับข้อมูล จากนั้นจะแสดงผลออกมาผ่านแอปพลิเคชั่นในรูปแบบเสียง
“ผู้ใช้เริ่มจากเปิดแอปพลิเคชั่น Blind Buddy ไว้จากนั้นเดินไปเรื่อยๆ จนกระทั่งแอปพลิเคชั่นจับสัญญาณบลูทูธ Ibeaconหรือตัวจับสัญญาณบลูทูธที่ติดตั้งไว้ที่ป้ายรถเมล์ได้แล้วก็จะมีการแจ้งเตือนด้วยการสั่นและมีเสียงเตือนว่าขณะนี้ท่านได้อยู่บริเวณป้ายรถโดยสารแล้ว จากนั้นผู้ใช้ต้องแตะที่หน้าจอหนึ่งครั้ง แอปพลิเคชั่นจะบอกด้วยเสียงว่าที่ป้ายดังกล่าวมีรถเมล์สายใดผ่านบ้าง ผู้ใช้ต้องแตะที่หน้าจออีกหนึ่งครั้งเพื่อเลือกสายรถที่จะขึ้นแล้วก็ยืนรอจนกระทั่งรถเมล์สายที่เลือกไว้มาถึงก็จะมีการแจ้งเตือนด้วยเสียงว่ารถมาถึงแล้ว ซึ่งจะมีการติดตั้ง Ibeacon ไว้ที่รถเมล์ด้วย เมื่อขึ้นรถได้แล้วผู้ใช้ต้องแตะที่หน้าจออีกครั้งแอปพลิเคชั่นจะบอกด้วยเสียงว่ารถคันนี้ผ่านป้ายไหนบ้าง และเมื่อผู้ใช้เลือกป้ายที่จะลงแล้วก็รอจนกระทั่งถึงป้ายดังกล่าว ซึ่งแอปพลิเคชั่นจะมีการแจ้งเตือนล่วงหน้าว่าใกล้จะถึงป้ายที่ผู้ใช้ต้องลงแล้วให้มีการเตรียมตัว”
อย่างไรก็ตามผลงานดังกล่าวเป็นเพียงแนวคิดและการออกแบบของเด็กไทยกลุ่มหนึ่งที่อยากจะมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคม แต่เพียงกำลังของนักศึกษาคงไม่สามารถผลักดันออกมาสู่การใช้งานจริงในสังคมวงกว้างได้ ต้องมีการต่อยอดจากภาครัฐ วรินดา กล่าวทิ้งท้ายว่า เหตุผลหลักในการจัดทำแอปพลิเคชั่นนี้ก็เพราะอยากจะนำเทคโนโลยีมาพัฒนาเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการทางสายตาในการเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง ทำให้คนพิการทางสายตาสามารถออกมาใช้ชีวิตประจำวัน และใช้บริการขนส่งสาธารณะและเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ ได้เหมือนคนปกติทั่วไป
- 67 views