รพ.มุกดาหาร จัดตั้ง “โครงการพยาบาลอาสาประจำครอบครัว” หนึ่งพยาบาล หนึ่งครอบครัว ใช้เวลาว่างช่วยดูแลผู้ป่วยในชุมชน เสริมความเข้มแข็งด้านสุขภาพ มีพยาบาล รพ.มุกดาหารกว่าครึ่งเข้าร่วม เผยแนวคิดจาก โครงการจิตอาสาราชประชาสมาสัย เพื่อทำให้ชุมชนเข้มแข็ง
นส.สมจิตร กาหาวงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลมุกดาหาร กล่าวถึงโครงการพยาบาลอาสาประจำครอบครัวว่า แนวคิดของการจัดตั้งโครงการนี้ มาจากโครงการจิตอาสาราชประชาสมาสัย โดยมูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ ที่มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประประชาชนและชุมชน จึงคิดว่าในฐานะที่เป็นพยาบาลน่าจะมีส่วนร่วมสร้างความเข้มแข็งได้ ที่ผ่านมาจึงได้ชวนพยาบาลในโรงพยาบาลเพื่อร่วมกันเป็นพยาบาลจิตอาสาประจำครอบครัวในการดำเนินกิจกรรมออกเยี่ยมบ้านเพื่อดูแลผู้ป่วยและประชาชนในชุมชน ด้วยการใช้เวลาว่างนอกราชการหรือหลังเลิกงานเป็นประโยชน์ โดยจะมีการวางแผนดูแลสุขภาพร่วมกับผู้ป่วยและคนในครอบครัว บางครอบครัวอาจมีผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุ หรือ เด็ก เพื่อให้มีการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ในการดำเนินงาน พยาบาล 1 คน ต่อการดุแล 1 ครอบครัว แต่บางคนอาจดูแลได้ 2-3 ครอบครัว แล้วแต่ความสมัครใจโดยไม่มีการบังคับ และให้พยาบาลเป็นผู้เลือกครอบครัวที่จะดูแลเอง รวมทั้งการลงเยี่ยมบ้านผู้ป่วยก็ไม่ได้มีการกำหนดจำนวนครั้ง ขึ้นอยู่กับความสะดวกของพยาบาลเองเช่นกัน แต่ทั้งนี้ต้องได้รับความยินยอมจากครอบครังที่เลือกด้วย ซึ่งบางคนอาจเลือกครอบครัวที่อยู่ใกล้บ้านได้ เป็นเหมือนพยาบาลประจำครอบครัว เป็นเสมือนสมาชิกหนึ่งของครอบครัว โดยพยาบาลแต่ละคนจะคอยให้คำแนะนำและคำปรึกษาต่างๆ ในด้านสุขภาพกับครอบครัวที่ดูแล เป้าหมายที่สำคัญเพื่อลดความเจ็บป่วย ลดการเกิดภาวะโรคที่รุนแรง ลดจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล รวมถึงนำไปสู่ความใส่ใจและดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมของประชาชนในที่สุด
ตัวอย่างเช่น ครอบครัวหนึ่งมีผู้ป่วยเบาหวาน พยาบาลประจำครอบครัวและผู้ป่วย รวมถึงสมาชิกในครอบครัว จะวางแผนการดูแลผู้ป่วยเบาหวานร่วมกัน โดยตั้งเป้าหมายว่าต้องควบคุมภาวะเบาหวานนี้ให้ได้ และไม่ให้ลุกลาม มีภาวะแทรกซ้อน จะมีวิธีอย่างไร และต้องช่วยกันปฏิบัติ พร้อมให้กำลังใจกัน ซึ่งหากมีข้อสงสัยหรือปัญหาทางสุขภาพ ครอบครัวนั้นสามารถปรึกษาพยาบาลประจำครอบครัวได้
“หลังมีแนวคิดโครงการนี้ จึงได้เริ่มต้นโดยขายไอเดียกับผู้บริหารการพยาบาลของโรงพยาบาลมุกดาหารก่อนว่าเห็นชอบหรือไม่ จากนั้นจึงได้ทำการชักชวนพยาบาลในโรงพยาบาล ซึ่งมีพยาบาลในโรงพยาบาลกว่า 170 คน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของพยาบาลในโรงพยาบาลเข้าร่วม เพื่อช่วยกันลงไปเสริมการทำงานสุขภาพในชุมชนเพื่อเพิ่มความเข้มแข็ง จากเดิมที่เราทำงานแต่ในโรงพยาบาลที่เป็นลักษณะของการตั้งรับมากกว่า โดยได้เริ่มต้นโครงการนี้เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา” รองผู้อำนวยการฝ่ายการพยาบาลฯ กล่าว และว่า หลังจากดำเนินโครงการครบ 3 เดือน จะมีการจัดประชุมพยาบาลอาสาประจำครอบครัวภายใต้โครงการนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำประสบการไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยเพิ่มเติม
นส.สมจิตร กล่าวว่า โครงการนี้ไม่แต่เฉพาะผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่พยาบาลอาสาประจำครอบครัวเองก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน เพราะนอกจากเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แล้ว ยังเป็นการร่วมทำความดี ขณะเดียวกันยังช่วยส่งเสริมให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งด้วย ทั้งนี้งานพยาบาลอาสาประจำครอบครัว แตกต่างจากการเยี่ยมบ้านของพยาบาลชุมชน เนื่องจากการทำงานของพยาบาลชุมชนมีการกำหนดกลุ่มประชากรหรือชุมชนเพื่อดุแล ซึ่งอาจเป็น 1:10,000 ประชากร รวมต้องดำเนินงานตามตัวชี้วัด ที่เป็นการทำงานในหน้าที่ แต่พยาบาลอาสาประจำครอบครัว เป็นการทำงานนอกเวลางานเพื่อช่วยเสริมการดูแลในชุมชนเท่านั้น อีกทั้งไม่ได้เป็นภาระงาน เพราะเป็นการทำด้วยจิตอาสาและความสมัครใจ ที่เน้นการมีส่วนร่วมกับคนในครอบครัวผู้ป่วย
- 62 views