กระทรวงสาธารณสุข เสริมทักษะทีม Child Project Manager ในการพัฒนาการดำเนินงานส่งเสริมพัฒนาเด็กปฐมวัย อายุ 0-5 ปี ทั้งในระดับจังหวัดและระดับเขตสุขภาพเพื่อส่งผลให้เด็กไทยมีพัฒนาการสมวัยเพิ่มขึ้น
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2559 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง เพิ่มพูนทักษะทีม Child Project Manager ภายใต้โครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ณ โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ต จังหวัดปทุมธานี ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดให้มีระบบบริการสุขภาพที่ครอบคลุมทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสภาพ โดยจัดระบบบริการสุขภาพออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ บริการระดับปฐมภูมิ (Primary Care) บริการระดับทุติยภูมิ (Secondary Care) และบริการระดับตติยภูมิ (Tertiary Care)
โดยมุ่งหวังให้บริการแต่ละระดับซึ่งมีบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันได้เชื่อมโยงกันด้วยระบบส่งต่อ (Referral System) เพื่อให้สามารถจัดบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ มีศักยภาพรองรับปัญหาทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความซับซ้อนในระดับพื้นที่สอดรับกับนโยบายการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่เน้นการจัดบริการผสมผสานที่ทำให้ประชาชนทุกกลุ่มอายุได้รับการส่งเสริมสุขภาพและควบคุมป้องกันโรค โดยกำหนดกลุ่มวัยต่างๆ ได้แก่ กลุ่มสตรีตั้งครรภ์ กลุ่มเด็ก 0-5 ปี กลุ่มเด็กวัยเรียน กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มวัยผู้สูงอายุ
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การดำเนินงานพัฒนาสุขภาพของจังหวัดต้องมีการบูรณาการแนวทางแก้ไขปัญหาและกิจกรรมต่างๆ ของแต่ละหน่วยงานโดยอาศัยข้อมูลทางวิชาการจากผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อสรุปเป็นมาตรการ วิธีการ และกิจกรรมดำเนินงานที่เหมาะสมของจังหวัด ให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานรับผิดชอบแต่ละแผนของจังหวัด และกำหนดให้มีผู้จัดการแผนงาน (Project Manager) ซึ่งมีความเข้าใจและมีทักษะการทำงานในภาพรวมทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ โดยมีบทบาทหน้าที่ดังนี้
1) บริหารจัดการโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กในภาพรวมระดับเขตและจังหวัด
2) ประสานนโยบายเพื่อ บูรณาการ
3) จัดระบบการคัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัยและสนับสนุนการปฏิบัติงาน
4) จัดระบบการส่งต่อภายในเขตและจังหวัด
5) เสนอผลและปัญหาการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด
6) จัดระบบการป้องกัน ติดตาม ดูแลเด็กที่พบพัฒนาการสงสัยล่าช้าและล่าช้า
และ 7) ติดตามตรวจเยี่ยมเสริมพลัง
“ทั้งนี้ การดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพกลุ่มเด็ก 0–5 ปี เน้นการส่งเสริมสุขภาพทั้งในด้านโภชนาการและการเจริญเติบโต พัฒนาการ ทันตสุขภาพ และการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค สำหรับการส่งเสริมพัฒนาการนั้น ในปี 2558 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้มีการพัฒนาศักยภาพ Child Project Manager ระดับอำเภอและระดับจังหวัด เพื่อให้สามารถทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการการดำเนินงานส่งเสริมและแก้ไขปัญหาพัฒนาการเด็ก 0-5 ปี ในภาพรวมในแต่ละอำเภอและจังหวัดได้ โดยพัฒนาระบบการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ให้สามารถค้นหาเด็กที่สงสัยหรือมีพัฒนาการล่าช้าได้ และดำเนินการแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นระบบมีประสิทธิภาพ ด้วยเครื่องมือ Developmental Surveillance and Promotion Manual (DSPM) และ Developmental Assessment For Intervention Manual (DAIM) ดังนั้น ปี 2558-2559 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานด้านการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย(0-5ปี) ให้ทั่วถึงทั้งระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล เพื่อให้เป็นผู้มีความรอบรู้เกี่ยวกับระบบการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก” รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ด้าน นพ.ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเสริมว่า จากข้อมูลสำนักตรวจและประเมินผล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการดำเนินงานคัดกรองพัฒนาการเด็กในภาพรวมระดับประเทศ ภายใต้โครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ตั้งแต่ 1 เมษายน 2558 ถึง 31 มกราคม 2559 พบว่า เด็กที่ได้รับการคัดกรองพัฒนาการร้อยละ 71.96 หรือ 897,432คน จากเป้าหมายที่ตั้ง 1,247,060 คน พบเด็กที่มีพัฒนาการที่สมวัยร้อยละ 90.84 เด็กที่สงสัยล่าช้าร้อยละ 9.19 เด็กสงสัยล่าช้าที่ได้รับการติดตามร้อยละ 76.37 เด็กที่สมวัยหลังได้รับการกระตุ้นร้อยละ 88.62 เด็กที่ไม่สมวัยหลังได้รับการกระตุ้นร้อยละ10.28เด็กที่ขาดการติดตาม/ติดตามไม่ได้ร้อยละ 13.55และอยู่ระหว่างติดตามร้อยละ 9.94 โดยกรมอนามัยและกรมสุขภาพจิตจะนำผลการดำเนินงานดังกล่าวไปติดตามประเมินผลเชิงคุณภาพในด้านความครอบคลุม ด้านคุณภาพผู้ประเมินและด้านการส่งต่อรักษาต่อไป
- 145 views