“กรรณิการ์” กก.หลักประกันสุขภาพสัดส่วนภาคประชาชน เห็นด้วยเพิ่มสิทธิประโยชน์วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในระบบหลักประกันสุขภาพ แนะก่อนเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติและบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ต้องต่อรองราคาจนได้ที่เหมาะสมตามผลการศึกษา คือ ไม่เกิน 200 บาทต่อเข็ม เพื่อประโยชน์ของประเทศ ชี้การให้วัคซีนในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องทำแบบมียุทธศาสตร์
น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมามีข้อเรียกร้องของฝ่ายต่างๆ ที่เสนอให้เพิ่มสิทธิประโยชน์วัคซีนเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นความร่วมมือที่ดีเพื่อการพัฒนาสิทธิประโยชน์ร่วมกัน แต่การที่บอร์ด สปสช.จะเพิ่มสิทธิประโยชน์วัคซีนเข้าสู่ระบบได้นั้น ตามระบบแล้ววัคซีนนั้นจะต้องได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติเท่านั้น ซึ่งขั้นตอนนี้มีคณะอนุกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นผู้ตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลประกอบการพิจารณา ทั้งด้านการแพทย์ เศรษฐศาสตร์และจริยธรรม ซึ่งเป็นการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ ศึกษาข้อดีข้อเสีย ไม่ใช่เอาวัคซีนทุกตัวเข้ามาอยู่ในระบบ
วัคซีนหลายตัวที่กลุ่มผู้เคลื่อนไหวสนับสนุน เช่น วัคซีนป้องกันโรคท้องร่วงจากไวรัสโรต้า ถึงแม้จะเป็นวัคซีนที่ดีสำหรับประเทศยากจนหลายประเทศ แต่ก็มีข้อเสียร้ายแรงได้ เพราะองค์การอนามัยโลกระบุว่าทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงคือภาวะลำไส้กลืนกัน ทำให้เด็กเสียชีวิตได้ 1-2 คนทุกปี หากนำมาฉีดในประเทศไทย จึงต้องวิเคราะห์ให้รอบครอบว่าได้จะคุ้มเสียไหม
วัคซีนไอกรนใหม่ชนิดไร้เชื้อที่มีอยู่ในตลาดปัจจุบัน ซึ่งพบว่ามีปัญหามากเพราะมีระยะเวลาในการป้องกันโรคไม่นานเมื่อเทียบกับวัคซีนแบบเดิมที่บ้านเรายังใช้อยู่ และมีราคาแพงกว่าด้วย หลายประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกาต่างประสบปัญหาเพราะเกิดโรคกลับมาระบาดตอนเด็กโตขึ้นเป็นวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ องค์การอนามัยโลกถึงกับออกมาเตือนให้ประเทศที่ยังไม่เปลี่ยนมาใช้วัคซีนแบบใหม่ให้ใช้วัคซีนแบบเดิมไปก่อน
น.ส.กรรณิการ์ กล่าวต่อว่า สำหรับวัคซีนป้องกัน HPV หรือโรคมะเร็งปากมดลูกนั้น เห็นด้วยที่ควรต้องบรรจุในสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ต้องต่อรองจนได้ราคาเหมาะสม เช่นข้อมูลของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือไฮแทป กระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุว่า วัคซีนนี้น่าจะใช้ในประเทศไทยหากสามารถต่อรองราคาลงมาที่ประมาณ 200 บาทต่อเข็ม จากที่เคยขายในประเทศไทยในช่วงแรกๆ เข็มละเกือบ 5 พันบาท ซึ่งราคา 200 บาทต่อเข็มน่าจะเป็นไปได้ เพราะปัจจุบันบริษัทวัคซีนก็ขายให้กับองค์กรนานาชาติที่ซื้อวัคซีนแจกให้กับประเทศยากจนในราคาเพียงเข็มละ 150 บาท ซึ่งประเทศไทยไม่อยู่ในข่ายได้รับการสนับสนุน
“ดังนั้น ก่อนจะนำวัคซีนเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ และบรรจุเพิ่มเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เราควรต่อรองกับภาคเอกชนจนได้ราคาที่เหมาะสมก่อน เพื่อประโยชน์ของประเทศ การออกมาบอกให้รับแล้วค่อยไปคุยกันเรื่องราคาจะทำให้ประเทศต้องใช้วัคซีนแพงกว่าที่ควรจะเป็น สิ้นเปลืองงบประมาณ บริษัทเอกชนที่ขายวัคซีนก็ไม่ใช่ของคนไทย เราไม่ควรให้เขาได้กำไรไปมากกว่านี้ เพาะแต่ละปีบริษัทยาและวัคซีนทำกำไรมหาศาลทุกปี” น.ส.กรรณิการ์ กล่าว
- 8 views