รพ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด นำร่องตรวจคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี เร่งค้นหากลุ่มเสี่ยง ให้ตรวจพบผู้ป่วยระยะต้น เพื่อรักษาหายขาด แก้ปัญหาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังพบมีความชุกผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีสูงสุดในโลก มีผู้ป่วยรายใหม่ 20,000 คนต่อปี

นพ.ชนากร ศีรษะภูมิ

นพ.ชนากร ศีรษะภูมิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า โรคมะเร็งท่อน้ำดี ถือว่าเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องมาจากในภูมิภาคนี้มีความชุกของการติดพยาธิใบไม้ตับสูง จนนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดีสูงที่สุดในโลก ประมาณ 113.4 ในผู้ชาย และ 49.8 ในผู้หญิงต่อประชากร 100,000 คน และพบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีรายใหม่เกิดขึ้นประมาณ 20,000 คนต่อปี ในปัจจุบันยังขาดแนวทางในการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ไม่สามารถตรวจพบผู้ป่วยในระยะต้น ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการวางแนวทางในการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง ตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคนี้ร่วมกันอย่างเป็นระบบ เพื่อที่จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพโดยหวังผลให้หายขาด หรือได้รับการรักษาแบบประคับประคอง เพื่อให้ผู้ป่วยคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายระดับชาติด้านสาธารณสุขของโรคมะเร็งท่อน้ำดี

ทางโรงพยาบาลจังหาร จึงได้มีแนวคิดจัดทำโครงการการศึกษาระยะยาวแบบไปข้างหน้าในกลุ่มผู้ที่เข้าร่วมโครงการคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดี Longitudinal cohort study of cholangiocarcinoma screening participants หรือ Changhan Cohort ขึ้น เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ประกอบไปด้วย 8 ตำบล 110 หมู่บ้าน มีอยู่ 5 ตำบล ที่มีพื้นที่ติดกับแม่น้ำชี คือ ตำบลแสนชาติ ตำบลม่วงลาด ตำบลผักแว่น ตำบลดงสิงห์ ตำบลดินดำ ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี

โครงการนี้คือการศึกษาว่าการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งท่อน้ำดีด้วยการตรวจอัลตร้าซาวด์ พบอัตราการผิดปกติเท่าไหร่ หลังจากกลุ่มเสี่ยงผ่านกระบวนการตรวจคัดกรองพร้อมกับได้รับการให้สุขศึกษาและคำแนะนำในการปฏิบัติตนจากแพทย์และเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลแล้ว กลุ่มเสี่ยงดังกล่าวมีพฤติกรรมการดูแลตนเองอย่างไร มีปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเพื่อลดภาวะเสี่ยงต่อโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี และมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างเมื่อตรวจซ้ำ

โครงการ Changhan Cohort ที่ทางโรงพยาบาลจังหารได้จัดทำขึ้น ได้แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน คือ

1.การรับสมัคร ลงทะเบียน คัดกรองด้วยวาจา

2.การลงข้อมูล

3.การตรวจอัลตร้าซาวด์ ให้คำแนะนำโดยแพทย์

4.พยาบาลให้คำแนะนำ Exit Nurse

การรับสมัคร ลงทะเบียน คัดกรองด้วยวาจา จะใช้ระบบในการให้ผู้นำชุมชนในแต่ละชุมชน ช่วยประชาสัมพันธ์ว่า ในพื้นที่มีกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ และมะเร็งท่อน้ำดี บ้างหรือไม่ เช่น มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ที่ผ่านมาเคยบริโภคอาหารดิบ โดยเฉพาะจำพวกปลาดิบ ก้อยปลา หรืออาหารหมักจำพวก ปลาส้ม ปลาจ่อม โดยจะให้กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้มาลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการ เพื่อจะได้ตรวจคัดกรอง ที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลจังหาร ได้บรรจุวาระของโครงการนี้เข้าสู่ที่ประชุมประจำเดือนของอำเภอจังหาร จนเป็นวาระระบบสุขภาพของอำเภอ

การลงข้อมูล หลังจากได้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงแล้ว เมื่อมาเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาล ก็จะมีการซักประวัติโดยละเอียดอีกครั้ง และลงเป็นฐานข้อมูลเอาไว้

การตรวจและการให้คำแนะนำโดยแพทย์ การตรวจจะใช้วิธีการอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง เพื่อหาความผิดปกติภายในตับ หลังจากนั้นแพทย์จะให้คำแนะนำถึงวิธีการปฏิบัติตัว

พยาบาลให้คำแนะนำ หรือ Exit Nurse  ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อผู้ป่วย จะเป็นการทบทวนความรู้ความเข้าใจของผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งขั้นตอนนี้จะมีการประเมินการรับรู้จากผลการตรวจว่า ผู้ป่วยรับรู้อย่างไรบ้าง  สัมภาษณ์ ประเมินความรู้ ทัศนคติ ของผู้ป่วย ทบทวนถึงพฤติกรรมเสี่ยง ที่จะทำให้เกิดโรค ขั้นตอนสุดท้ายคือการให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย โดยเฉพาะการสร้างเสริมพลังใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ความท้าทายของขั้นตอน Exit Nurse คือการสร้างแรงจูงใจ เสริมพลังในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างไร แบบสมัครใจด้วยตนเองอย่างยั่งยืน ปฏิบัตติตนอย่างต่อเนื่องในการดูแลตนเอง

นพ.ชนากร กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากได้จัดทำโครงการ Changhan Cohort  พบว่ามีผู้สนใจเข้ามาร่วมโครงการแล้ว 2,038 คน มีการตรวจคัดกรองผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงแล้วจำนวน 1,139 คน พบผู้ป่วยที่เป็นปกติ 455 คน ผู้ป่วยที่ตับมีอาการผิดปกติ 684 คน และมีผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการอีก 899 คน ที่รอการตรวจอัลตร้าซาวด์ตับ ซึ่งผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการมีความเข้าใจและหวาดกลัวต่อโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่ได้รับคำแนะนำจาก Exit Nurse ผู้ป่วยมีกำลังใจ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมากขึ้น คือ งดกินอาหารดิบ มีการนำอาหารมาปรุงให้สุกก่อนรับประทานมากขึ้น ทำให้ร่างกายกลับมาดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วย คือ เป้าหมายที่สำคัญของโครงการนี้

นางวงศ์เดือน พรมเลิศ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ตำบลผักแว่น อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า ได้รับทราบโครงการ Changhan cohort ของโรงพยาบาลจังหาร จากที่ประชุมอำเภอว่า โรคพยาธิใบไม้ตับ และมะเร็งท่อน้ำดี เป็นโรคที่เกิดขึ้นสูงที่สุดในประเทศไทย และเกิดขึ้นมากที่สุดในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ผ่านมาทางอำเภอจังหารได้บรรจุโครงการนี้เข้าไว้เป็นวาระในการประชุมอำเภอเป็นประจำทุกเดือน โดยมีการให้ผู้นำชุมชนได้นำเอาข้อมูลโครงการนีั้ไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ของตนเองให้ผู้ที่อยู่ในแต่ละชุมชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรค มาร่วมสมัครลงชื่อเข้าร่วมโครงการ

ที่ผ่านมาตนเองก็ได้ประชาสัมพันธ์ให้กับชาวบ้านในหมู่ที่ 2 ได้รับทราบ โดยการประชาสัมพันธ์ผ่านหอกระจายข่าวในหมู่บ้าน และการประชุมในหมู่บ้านอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะหมู่ที่ 2 บ้านผักแว่นเองมีประชากรทั้งหมด 120 ครัวเรือน รวม 480 คน มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ และมะเร็งท่อน้ำดี เนื่องจากว่าชาวบ้านได้ใช้แหล่งน้ำที่อยู่ใกล้ได้แก่ กุดเชียงบัง และกุดเชียงสา ในการอุปโภค บริโภค โดยเฉพาะการจับสัตว์น้ำมาบริโภค ที่ผ่านมามีชาวบ้านในหมู่ที่ ๒ เข้าร่วมโครงการนี้แล้ว 20 ราย

แต่ละรายหลังจากที่เข้าร่วมโครงการและได้รับการตรวจจากโรงพยาบาลจังหาร ทุกรายมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคมากขึ้น จะระมัดระวังตนเองมากขึ้นกว่าเดิม ผิดจากสมัยก่อนที่ชาวบ้านส่วนใหญ่จะพูดว่า หากเป็นโรคนี้แล้วจะตายก็ช่าง เพราะเกิดมาชาติเดียว แต่ในขณะนี้ คำพูดคำนี้ได้หายไปแล้ว ทุกคนต่างระมัดระวังตนเองดูแลตนเองเพิ่มมากขึ้น เพื่อป้องกันตนเองจากการเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับ และมะเร็งท่อน้ำดี

นายพงษ์พันธ์ เวียงอิน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลปาฝา อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด ได้กล่าวว่าหลังจากมีโครงการ Changhan Cohort บรรจุเป็นวาระโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เป็นวาระการประชุมประจำเดือนของอำเภอจังหาร โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ กำนันผู้ใหญ่บ้าน ในแต่ละอำเภอให้ความสนใจ ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้แต่ละชุมชนตระหนักถึงอันตรายของโรคที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะหมู่ที่ 1 มี 131 ครัวเรือน 603 คน จากการเข้าโครงการพบว่ามีผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงประมาณ 50% ซึ่งที่ผ่านมาคนในชุมชนจะไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโรคมะเร็งท่อน้ำดี ก็ต่อเมื่อเป็นระยะสุดท้ายที่ไม่สามารถรักษาได้ แต่หลังจากมีผู้เข้าร่วมโครงการในหมู่ที่ 1 จำนวน 100 คน เข้าร่วมโครงการแล้ว พบว่าทุกรายมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป คือ งดการบริโภคอาหารดิบ ไม่ว่าจะเป็นก้อยปลา ปลาส้ม ปลาจ่อม ปลาร้า อีกทั้งยังมีทัศนคติที่เปลี่ยนไป คือ โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีนั้นสามารถรักษาได้ หากผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมีการตรวจคัดกรองจากแพทย์ตั้งแต่แรก โดยเฉพาะการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ข้อมูลเกี่ยวกับโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ให้แต่ละชุมชนได้รับรู้ถึงโทษ ก็จะสามารถทำให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคได้