คปภ.ลงนามร่วมกับราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ ให้คำปรึกษาบุคลากรการแพทย์เข้าถึงประกันภัยและใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง พร้อมเดินหน้าผลักดันให้บริษัทประกันภัยออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยความรับผิดต่อวิชาชีพศัลยแพทย์เพื่อรองรับความเสี่ยงจากเหตุความเสียหายทางการแพทย์ และถูกฟ้องร้อง

เมื่อวันที่ 16 พ.ค.59 มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ MOU ระหว่าง นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กับ พล.อ.นพ.ปริญญา ทวีชัยการ ประธานราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย

นายสุทธิพล เปิดเผยว่า จากการประชุมและหารือร่วมกันระหว่างราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยและ คปภ. เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยใดบ้างที่จะสามารถเข้าไปคุ้มครองความเสี่ยงให้กับศัลยแพทย์หากถูกผู้ป่วยหรือญาติของผู้ป่วยฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการรักษาพยาบาล เนื่องจากศัลยแพทย์ส่วนใหญ่ที่เป็นสมาชิกของราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ยังขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย

จากการหารือดังกล่าว คปภ. ได้เล็งเห็นความสำคัญที่จะต้องเร่งให้ความรู้และสร้างความเข้าใจด้านประกันภัยให้กับศัลยแพทย์ที่เป็นสมาชิกของราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและความมั่นใจว่าการประกอบวิชาชีพศัลยแพทย์นั้นสามารถบริหารความเสี่ยงได้ด้วยผลิตภัณฑ์ประกันภัย

เพื่อให้การดำเนินการข้างต้นเกิดประสิทธิภาพจึงเป็นที่มาของการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการส่งเสริมความรู้และสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยระหว่าง คปภ.กับราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย

สำหรับบันทึกความเข้าใจดังกล่าว คปภ. จะให้ความรู้และความเข้าใจตลอดจนคำปรึกษาแนะนำด้านการประกันภัย และสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากการประกันภัยให้กับสมาชิกบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ของราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยให้สามารถเข้าถึงประกันภัยและใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง ในส่วนของราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยก็จะให้ความรู้ด้านการแพทย์และความรู้เกี่ยวกับแนวทางการดูแลสุขภาพที่ดีให้กับพนักงานของ คปภ.เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับบุคลากรของทั้ง 2 หน่วยงาน ดังนั้นจึงนับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นที่นำระบบประกันภัยเข้าไปบริหารความเสี่ยงในการประกอบวิชาชีพศัลยแพทย์อย่างเป็นระบบและครบวงจรเป็นครั้งแรกอีกด้วย

นายสุทธิพล กล่าวอีกว่า การบริหารความเสี่ยงจากการประกอบวิชาชีพต่างๆ ด้วยระบบประกันภัยนั้นถือว่ามีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งกับบุคคลที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในแต่ละครั้งมีมูลค่าสูงมาก ทำให้ต้องรับภาระชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งๆ ที่มีความตั้งใจให้การปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ แต่บางกรณีซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยเร่งด่วนการตัดสินใจให้การรักษาพยาบาลเพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วยต้องแข่งกับเวลาอย่างเร่งด่วนอาจทำให้เกิดความผิดพลาดในการรักษาขึ้นได้ รวมทั้งการผ่าตัดหรือศัลยกรรมเสริมความงามอาจเกิดความผิดพลาดขึ้นมาได้จนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายก็เป็นไปได้จึงทำให้กลุ่มศัลยแพทย์เกิดความกังวลว่าหากเกิดความผิดพลาดในการปฏิบัติหน้าที่ขึ้นมาอาจจะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายทางการแพทย์ โดยเฉพาะกลุ่มแพทย์ที่อยู่ในสังกัดโรงพยาบาลของรัฐจะมีภูมิคุ้มกันน้อยกว่าแพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลของเอกชน เนื่องจากสวัสดิการที่แตกต่างกันอย่างมาก ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ศัลยแพทย์เก่งๆที่ได้รับทุนจากรัฐบาลเมื่อทำงานใช้ทุนในโรงพยาบาลรัฐหมดแล้วจึงย้ายไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชนกันเป็นส่วนใหญ่

ดังนั้นหากมีกรมธรรม์ประกันภัยที่เข้าไปบริหารความเสี่ยงให้กับศัลยแพทย์ในจุดนี้ได้ก็จะสร้างความมั่นใจให้กับศัลยแพทย์ได้ในระดับหนึ่งด้วย

คปภ.จะได้หารือร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทยถึงความเป็นไปได้ในการจัดให้มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยความรับผิดผู้ประกอบวิชาชีพสำหรับศัลยแพทย์เป็นการเฉพาะ นับเป็นก้าวแรกในการนำประกันภัยมาใช้ในการพัฒนาวงการแพทย์ด้านบริหารความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้เพื่อทำให้ศัลยแพทย์เกิดความเชื่อมั่นในวิชาชีพ ในขณะเดียวกันผู้ป่วยก็มีความมั่นใจว่าจะได้รับการชดเชยค่าเสียหายที่เกิด ขึ้นจากความผิดพลาดในการรักษาพยาบาลอีกด้วย

“การที่นำประกันภัยเข้าไปเป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อบริหารความเสี่ยงให้กับศัลยแพทย์ครั้งนี้ ถือเป็นการจุดประกายให้วงการแพทย์เกิดความตื่นตัวเกี่ยวกับการทำประกันภัย และ คปภ.จะทำการขยายผลด้วยการพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยเพื่อให้ความคุ้มครองแพทย์กลุ่มอื่นๆ ต่อไป เช่น ทันตแพทย์ วิสัญญีแพทย์ อายุรแพทย์ รวมไปถึงกลุ่มแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงภัยอย่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเท่ากับเป็นการใช้ระบบประกันภัยในการยกระดับสาธารณสุขของประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย” นายสุทธิพล กล่าว