กรมสนับสนุนบริการสุขภาพตรวจสอบโรงพยาบาลเดชา หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน พบบริการไม่เป็นไปตามมาตรฐานตามที่กฎหมายสถานพยาบาลกำหนด มีบุคลากรทางการแพทย์น้อย ผู้รับบริการมีความเสี่ยง ไม่ปลอดภัย จึงสั่งปิดเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานโรงพยาบาลขนาด 100 เตียง ตามที่ขออนุญาตไว้ โดยจะมีผลเมื่อโรงพยาบาลเดชาได้รับคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนผู้ป่วยสิทธิต่างๆ ทั้ง 3 สิทธิ ได้ประสานงานส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ ขอให้ทุกคนวางใจได้
นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า สบส. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ว่าโรงพยาบาลเดชา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ขนาด 100 เตียง มีบุคลากรน้อย ห้องฉุกเฉินไม่สามารถให้บริการ จึงได้สั่งให้เจ้าหน้าที่สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ เข้าไปตรวจสอบมาตรฐานเป็นการด่วน
นพ.บุญเรือง กล่าวต่อว่า จากผลการตรวจสอบพบว่าในส่วนของบุคลากรหลักที่ปฏิบัติงานมีน้อยมาก ซึ่งตามกฎกระทรวง ว่าด้วยการกำหนดวิชาชีพและจำนวนผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2558 เป็นต้นมา กำหนดให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ 100 เตียง ต้องจัดบุคลากรบริการภาคกลางวันต้องมี 31 คน โดยต้องมีแพทย์ 5 คน พยาบาล 15 คน เภสัชกร 3 คน เทคนิคการแพทย์ 3 คน กายภาพบำบัด 3 คน และรังสีเทคนิค 2 คน ส่วนกลางคืนกำหนดให้มี 20 คน
แต่จากตารางเวรของโรงพยาบาลเดชา วันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ภาคกลางวันพบว่ามีบุคลากรปฏิบัติงานเพียง 23 คน มีแพทย์ 4 คน พยาบาล 11 คน เภสัชกร 2 คน เทคนิคการแพทย์ 3 คน กายภาพบำบัด 2 คน และรังสิเทคนิค 1 คน ส่วนกลางคืนมี 11 คน จึงไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด มีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 มาตรา 35 และมาตรา 49 กำหนดให้ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการต้องจัดให้มีผู้ประกอบวิชาชีพให้บริการเต็มเวลาขั้นต่ำตามจำนวนเตียงที่ขออนุญาต
ดังนั้น สบส.เห็นว่าโรงพยาบาลดังกล่าวขาดมาตรฐานในการให้บริการ อาจจะไม่มีคุณภาพและความปลอดภัยต่อผู้รับบริการ จึงได้มีคำสั่งให้ปิดโรงพยาบาลดังกล่าวเป็นการชั่วคราว เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค จนกว่าจะปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
สำหรับคำสั่งปิดโรงพยาบาลครั้งนี้ จะมีผลเมื่อโรงพยาบาลได้รับทราบคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระหว่างนี้ สบส.จะเร่งประสานงานโรงพยาบาลที่มีศักยภาพรองรับผู้ป่วยที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเดชา เพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยตรง และได้สั่งการให้สำนักสถานพยาบาลฯ ประสานกับสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ เพื่อโอนย้ายสิทธิการรักษาไปยังโรงพยาบาลอื่นเป็นการชั่วคราว จึงขอให้ประชาชนวางใจไดว่ามีสถานที่รักษาพยาบาลแน่นอน
ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า ขั้นตอนการอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลเพื่อการควบคุมมาตรฐานโรงพยาบาล มีดังนี้ ผู้ประกอบกิจการต้องยื่นขออนุญาตที่สำนักสถานพยาบาลฯ จากนั้นสำนักฯจะนำเอกสารหลักฐานทั้งหมด เสนอที่ประชุมคณะอนุกรรมการ และคณะกรรมการสถานพยาบาล เพื่อพิจารณาความถูกต้องตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด จากนั้นอธิบดี สบส.จึงจะอนุมัติแผนการจัดสร้างสถานพยาบาลและแบบแปลนการก่อสร้าง ก่อนเปิดบริการพนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานของสถานพยาบาลทั้งหมด ทั้งในเรื่องสถานที่ บุคลากร เครื่องมือ เวชภัณฑ์ สิ่งแวดล้อมต่างๆ หากได้มาตรฐานจึงได้รับการอนุญาตให้เปิดดำเนิการได้ โดยใบอนุญาตมีอายุ 10 ปี และมีการออกตรวจสอบมาตรฐานโรงพยาบาลทุกปี หากพบว่าระบบบริหารจัดการไม่ได้มาตรฐานก็จะสั่งให้แก้ไขปรับปรุงจนผ่านเกณฑ์ที่กำหนด
- 79 views