กระทรวงสาธารณสุขและภาคีสุขภาพ 50 องค์กรภาคี ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน 100 ปีการสาธารณสุขไทย เตรียมการจัดกิจกรรมตลอดปี 2561-2562 เฉลิมฉลองการเข้าสู่ศตวรรษที่ 2 ของการพัฒนาสาธารณสุข พร้อมจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ และหอจดหมายเหตุสุขภาพไทยที่กระทรวงสาธารณสุข เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์สุขภาพ ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการก้าวต่อไปข้างหน้า
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานประชุมภาคีเครือข่ายสาธารณสุข พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ 50 ภาคีเครือข่ายสาธารณสุข อาทิ องค์กรวิชาชีพ องค์กรและมูลนิธิด้านสาธารณสุข เช่น สสส. สปสช. มูลนิธิสุขภาพไทย มูลนิธิราชประชาสมาสัย สถาบันการศึกษาทางการแพทย์และบริษัทห้างร้านภาคเอกชน เพื่อร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปีการสาธารณสุขไทย (พ.ศ.2461 – พ.ศ.2561) ในปี 2561
นพ.โสภณ กล่าวว่า ในวาระครบ 100 ปีของการริเริ่มงานสาธารณสุข วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับ 50 องค์กรภาคีเครือข่าย เตรียมจัดงาน “100 ปีการสาธารณสุขไทย” ตลอดปี 2561 – 2562 เพื่อเฉลิมฉลองการเข้าสู่ศตวรรษที่ 2 ของการพัฒนาสาธารณสุข ซึ่ง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ โดยกล่าวว่า “การศึกษาประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อการก้าวต่อไปข้างหน้า”
ในการดำเนินงานได้จัดทำแผนงาน 100 ปีการสาธารณสุขไทย (2461 - 2561) เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปี 2562 ประกอบด้วย 5 โครงการ ได้แก่
1.การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์กลางของกระทรวงสาธารณสุขโดยใช้อาคารเรือนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์และพัฒนาการของสาธารณสุขไทย แสดงผลงานสำคัญในอดีต พัฒนาการและนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นแหล่งศึกษาดูงานของนักศึกษาและผู้สนใจ โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561
2.การจัดตั้งหอจดหมายเหตุสุขภาพไทยที่อาคารคลังพัสดุ เพื่อเก็บรักษาเอกสารสำคัญด้านสาธารณสุข ให้คงอยู่ในสภาพดี ไม่สูญหาย เป็นประโยชน์แก่การศึกษาค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์สุขภาพ กำหนดเปิดอย่างเป็นทางการในโอกาสครบรอบ 100 ปีการสาธารณสุขไทย วันที่ 27 พฤศจิกายน 2561
3.การวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สุขภาพ โดยความร่วมมือกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขและสถาบันการศึกษาต่างๆ จัดทำแผนงานและระบบสนับสนุนการวิจัยด้านประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข จัดทำหนังสือประวัติศาสตร์สาธารณสุข มีเนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน ผลิตสื่อเอกสารและสารคดีสั้น 100 ตอน เนื้อหาเกี่ยวกับบุคคล ความคิด สิ่งประดิษฐ์ และเรื่องราวที่มีคุณค่าเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ เป็นต้น
4.การสื่อสารประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ และเข้าร่วมจัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง 100 ปี การสาธารณสุขไทย
และ 5.กิจกรรมรณรงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพบริการแก่ประชาชนตลอดปี ตั้งแต่ 27 พฤศจิกายน 2561 – 27 พฤศจิกายน 2562 เช่น การปรับปรุงโรงพยาบาลทั่วประเทศให้มีภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเยียวยาผู้ป่วย และการกำหนดให้ปี พ.ศ. 2561 เป็นปีแห่งการรณรงค์เพื่อสาธารณสุขในทุกพื้นที่ โดยจัดกิจกรรมและบริการสาธารณสุขด้านต่างๆ บริการแก่ประชาชน
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้ตั้งกรมสาธารณสุขขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 มุ่งขยายบริการสุขภาพให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ จนประสบความสำเร็จ ทั้งด้านการควบคุมป้องกันโรค สามารถกวาดล้างและควบคุมโรคติดต่อหลายชนิดจนไม่เป็นปัญหาสาธารณสุข อาทิ ไข้ทรพิษ กาฬโรค โปลิโอ โรคเรื้อน คุดทะราด เป็นต้น ด้านการส่งเสริมสุขภาพมีการริเริ่มกิจการด้านโภชนาการ การวางแผนครอบครัว การให้วัคซีนป้องกันโรคและอนามัยแม่และเด็ก และด้านการรักษาพยาบาลมีสถานบริการสาธารณสุขครอบคลุม ตั้งแต่ระดับตำบล และระบบส่งต่อเชื่อมโยงจนถึงระดับโรงพยาบาลศูนย์เชี่ยวชาญ การพัฒนาที่ผ่านมาอย่างยาวนานทำให้ระบบการสาธารณสุขที่ดีขึ้น อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยยืนยาวขึ้น ประชาชนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพ สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ใกล้บ้าน อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
“ความสำเร็จของการสาธารณสุขในศตวรรษที่ผ่านมา เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจกันของทุกวิชาชีพ ทุกกระทรวง รวมทั้งองค์กรใหม่ๆ ที่มีการจัดตั้งขึ้น และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ภาคประชาชน ทั้งองค์กรประชาสังคมต่างๆ และอาสาสมัครสาธารณสุขที่มีอยู่มากกว่า 1 ล้านคนทุกชุมชนทั่วประเทศ จึงขอให้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพในงาน 100 ปีการสาธารณสุขไทยในครั้งนี้” นพ.โสภณ กล่าว
- 25 views