นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : สปส.เดินหน้าถกความเป็นไปได้ "บัตรใบเดียว" รักษาทุกโรงพยาบาล ระบุอาจทำได้ใน รพ.สังกัด สธ. กทม. และกลาโหม เหตุค่ารักษาอยู่ในอัตราที่รัฐกำหนด ส่วน รพ.เอกชนยังติดข้อจำกัดค่ารักษาที่มีความแตกต่างแต่ละ รพ. คาดอีกไม่เกิน 3 เดือนมีคำตอบ พร้อมเล็งเสนอบอร์ด เปิดทางผู้ประกันตนมาตรา 39 กลับเข้าสู่ระบบ
นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2559 ของสภาองค์การลูกจ้าง 17 องค์กรที่จะยื่นต่อนายกรัฐมนตรีวันที่ 1 พ.ค.นี้ ว่าส่วนหนึ่งเป็นการเรียกร้องเกี่ยวกับ สปส. โดยขอให้บัตรรับรองสิทธิสถานพยาบาลให้ใช้ได้ทุกโรงพยาบาล รวมทั้งให้ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่บางคนต้องพ้นการเป็นผู้ประกันตน สามารถเข้ามาขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้ใหม่ โดยกรณีดังกล่าวปัจจุบันมีผู้ประกันตนมาตรา 39 ซึ่งเป็นผู้ที่เคยมีงานทำ และต่อมาเมื่อมีการออกจากงานยังคงส่งเบี้ยด้วยตัวเอง กว่า 1 ล้านคนและที่ผ่านมามีผู้ประกันตนที่พ้นจากมาตรา 39 กว่า 3 แสนคนซึ่งอาจเป็นเพราะขาดการส่งเงิน ซึ่งผู้ประกันตนกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งกลับเข้าทำงานใหม่และกลับมาเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และ บางส่วนเข้ามาตรา 40 ในกรณีของอาชีพอิสระ
สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่พ้นไปและไม่ได้เข้ามาตรา 33 และมาตรา 40 ก็ยังคาดว่ามีจำนวนหลายหมื่นคน แต่ สปส.จะต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่ามีจำนวนเท่าไร และสาเหตุที่พ้นจากการเป็นผู้ประกันตนเพราะขาดส่งเงินสมทบ เนื่องจากเหตุจำเป็นหรือมีความประสงค์ที่จะไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 อีกต่อไปแน่
หากมีข้อมูลที่ชัดเจนแล้ว จะเสนอและหารือต่อคณะกรรมการประกันสังคม ถ้าจะดึงกลับเข้าสู่มาตรา 39 ก็ต้องจัดทำร่าง พ.ร.บ.ให้ผู้ประกันตนที่พ้นไปสามารถกลับเข้าสู่มาตรา 39 ได้อีกครั้งโดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือน เมื่อบอร์ด สปส.ได้ข้อสรุปแล้ว สปส.จะเสนอต่อ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน เพื่อพิจารณานำร่าง พ.ร.บ.เสนอต่อคณะรัฐมนตรี
ส่วนข้อเรียกร้องให้บัตรรับรองสิทธิสถานพยาบาลใบเดียวสามารถใช้ได้ทุก รพ.นั้น เห็นว่าอาจจะมีความเป็นไปได้ในส่วนของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กทม.และกระทรวงกลาโหม เพราะค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลอยู่ในอัตราที่รัฐบาลกำหนด แต่ในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนมีอัตราค่ารักษาพยาบาลแตกต่างกันและมีส่วนต่างที่ต้องจ่ายเพิ่ม เช่น ค่าห้อง ค่าบริการ ซึ่ง สปส.จะศึกษาความเป็นไปได้ในเรื่องนี้คาดว่าภายใน 3 เดือนได้ข้อสรุป
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 25 เมษายน 2559
- 3 views