กรมสนับสนุนบริการสุขภาพอบรมครูพยาบาลและเจ้าหน้าที่ประจำสุขศาลาพระราชทาน โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 16 แห่งทั่วประเทศ เพิ่มศักยภาพการให้บริการประชาชนในพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกล สนองกระแสพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เชื่อมต่อกับสถานบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สร้างความเท่าเทียม เป็นธรรม ทั้งด้านการรักษาพยาบาลเบื้องต้น การช่วยชีวิตในภาวะฉุกเฉิน การดูแลสุขภาพแม่-เด็ก ผู้พิการ ผู้สูงอายุ การใช้ยาที่ปลอดภัย พร้อมทั้งเร่งพัฒนาระบบการรักษาทางไกลในสุขศาลาฯ สามารถให้การรักษาได้ทันท่วงทีเพิ่มโอกาสรอดชีวิตผู้ป่วย
วันนี้ (25 เมษายน 2559) นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดอบรมผู้บังคับหมวดแพทย์กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน ครูพยาบาลเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานประจำสุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนจำนวน 16 แห่งทั่วประเทศและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่รับผิดชอบงานสุขศาลาพระราชทานรวม 60 คน จัดโดย สบส.ระหว่างวันที่ 25-29 เมษายน 2559 ณ โรงแรมจอมเทียน ปาล์ม บีช โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จ.ชลบุรี เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการประชาชน สนองพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราขสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชน ที่อาศัยในถิ่นทุรกันดาร การคมนาคมเข้าถึงยากลำบาก
นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ในการอบรมครั้งนี้ สบส.ได้เน้นหนักการทบทวน ฟื้นฟูความรู้และทักษะที่จำเป็นในการให้บริการประชาชน สอดคล้องนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนทุกคนในผืนแผ่นดินไทยได้รับการดูแลสุขภาพอย่างทั่วถึง มีคุณภาพ เท่าเทียม และเป็นธรรม และสอดคล้องสภาพปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ซึ่งมีสภาพเป็นป่าเขาและแนวชายแดน การเดินทางยากลำบากกว่าพื้นที่ทั่วไปหลายเท่าตัว ในปีนี้จึงเน้นหนักเรื่องการตรวจวินิจฉัยโรคเบื้องต้นเช่นโรคมาลาเรียที่เกิดจากยุงก้นปล่อง โรคสครัปไทฟัสซึ่งมีไรอ่อนเป็นพาหะ โรคปอดบวมที่มักเกิดแทรกซ้อนหลังจากมีอาการป่วย โรคอุจจาระร่วงจากเชื้ออหิวาตกโรค เป็นต้น การซักประวัติ การตรวจร่างกาย การช่วยเหลือผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉิน เช่นการห้ามเลือด การช่วยฟื้นคืนชีพ การดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ การส่งเสริมสุขภาพแม่และเด็ก ความรู้ในการใช้ยาเท่าที่จำเป็นและปลอดภัย และการสื่อสารให้ความรู้ด้านสุขภาพ เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย หากผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยดูแลอย่างถูกต้อง แม่นยำและรวดเร็ว จะช่วยลดความรุนแรงและเพิ่มโอกาสรอดชีวิตผู้ป่วยได้เป็นอย่างมาก
สำหรับสุขศาลาพระราชทานนี้ เป็นสถานบริการสาธารณสุขขนาดเล็กที่สุด ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ดัดแปลงมาจากห้องพยาบาลของโรงเรียน อยู่ในความดูแลของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ให้บริการดูแลสุขภาพประชาชน ในระดับปฐมภูมิแบบผสมผสานทั้งการรักษาพยาบาลเบื้องต้นในภาวะปกติและฉุกเฉิน การส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค เป็นศูนย์ประสานความร่วมมือพัฒนาสุขภาพนักเรียนและชุมชน ทำงานเชื่อมต่อกับ อสม.โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และโรงพยาบาลชุมชน ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2549 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีทั้งหมด 16 แห่ง ครอบคลุม 40 หมู่บ้าน 14 อำเภอใน 9 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เชียงใหม่ ตาก เชียงราย แม่ฮ่องสอน ยะลาและนราธิวาส บุคลากรเฉลี่ย 3-4 คน ประกอบด้วยครูพยาบาลสนาม 2 คน ผู้ช่วยเหลือคนไข้ 1 คน และ อสม.1 คน
นพ.บุญเรือง กล่าวต่อว่า ในปี 2559 นี้ สบส.ได้จัดงบประมาณพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสุขศาลาฯร่วมกับหน่วยงานอื่นๆอีกหลายหน่วยงาน เน้นในด้านโครงสร้างอาคารและระบบบริการประชาชนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ตรวจสอบมาตรฐานความเที่ยงตรงของอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้ประจำ เช่นเครื่องตรวจวัดความดันโลหิต รวมทั้งพัฒนาระบบการรักษาทางไกลหรือเทเลเมดดิซิน (Telemedicine) ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เชื่อมโยงสัญญาณกับโรงพยาบาลชุมชน ครูพยาบาลสามารถปรึกษาและตรวจผู้ป่วยร่วมกับแพทย์ โดยผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล สามารถรักษาได้ทันท่วงที ทั้งนี้โรคที่พบมากในพื้นที่ทุรกันดาร อันดับ 1 ได้แก่โรคทางเดินหายใจเช่นไข้หวัดพบร้อยละ 40 รองลงมาคือระบบทางเดินอาหาร ร้อยละ 26 โรคปวดเมื่อยร้อยละ 14 โรคมาลาเรียร้อยละ 6
- 9 views