กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ประชุมแนวทางการสนับสนุนสถาบันศึกษา ราชวิทยาลัย สภาวิชาชีพ ด้านการแพทย์วางยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางประชุมวิชาการทางการแพทย์ระดับโลก ดึงเศรษฐกิจเข้าไทย ปี 59 นี้ผลักดันสถาบันการศึกษา เปิดหลักสูตรผลิตบุคลากรพันธุ์ใหม่ สาขาอุตสาหกรรมไมซ์ ชี้ในปี 2556 ไทยมีรายได้จากการจัดประชุมกว่า 8 หมื่นกว่าล้านบาท โดยไทยติดอันดับ 29 ของโลกและอันดับ 7 เอเชีย กรุงเทพครอบอันดับ 4 เมืองหลวงการประชุม 93 ครั้ง
เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2559) นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดประชุมบุคลากร ผู้บริหารสถาบันการศึกษา ราชวิทยาลัย สมาคม สภาวิชาชีพ ด้านการแพทย์และสาธารณสุขและสถานพยาบาลระดับเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อชี้แจงแนวทางสนับสนุนเข้าประมูลสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมวิชาการระดับโลกและนานาชาติในประเทศไทย ยกระดับความเป็นเลิศทางวิชาการและบริการรักษาพยาบาลของแพทย์ไทยให้เป็นที่ยอมรับ และสร้างรายได้จากการประชุมเข้าสู่ประเทศเนื่องจากขณะนี้อุตสาหกรรมการประชุมวิชาการนานาชาติหรือที่เรียกว่าอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE : Meeting/Incentive/Convention/Exhibition) เป็นธุรกิจที่กำลังขยายตัวในระดับโลก ร้อยละ 5 ต่อปี
นพ.บุญเรือง กล่าวว่า รัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติและจัดทำยุทธศาสตร์พัฒนา พ.ศ. 2558-2561 ใน 4 สาขาหลัก ได้แก่
1.สาขาบริการทางการแพทย์ (Medical Service Hub)
2.สาขาศูนย์กลางบริการเพื่อสุขภาพ (Wellness Hub)
3.สาขาวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub)
และ 4.สาขาศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub)
โดยสาขาที่จะต้องเร่งผลักดันให้มากขึ้นคือ สาขางานวิชาการและงานวิจัย ในปีนี้จึงดำเนินการอย่างจริงจัง โดยร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ซึ่งได้ลงนามบันทึกข้อตกลง ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้ภาควิชาการงานและงานวิจัยด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้เกิดการพัฒนาและยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์เชี่ยวชาญของโลกในเรื่องของสุขภาพสาขาด้านๆ ทั้งด้านการป้องกันรักษา วิจัย เพื่อให้ไทยสามารถเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมระดับโลกได้
แนวทางดำเนินในปี 2559 นี้ จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการจัดประชุม โดยจัดทำกลยุทธ์ 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2559 – 2568 จะส่งเสริมให้สมาคม ราชวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นสมาชิกขององค์กรระดับนานาชาติ หรือจัดตั้งองค์กรนานาชาติในประเทศไทย มีขีดความสามารถในการจัดประชุมนานาชาติในประเทศ และขยายผลเป็นคณะเลขานุการในสาขาที่มีศักยภาพ เพื่อให้เป็นที่รู้จักและมีสิทธิเข้าร่วมประมูลงานและเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับนานาชาติแข่งขันกับประเทศอื่นทั่วโลกได้ รวมทั้งพัฒนาให้สถาบันศึกษาต่างๆ เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการจัดประชุมวิชาการ นิทรรศการ หรืออุตสาหกรรมไมซ์ เป็นบุคลากรสายวิชาชีพสาขาใหม่ของประเทศ ที่มีความก้าวหน้าเช่นเดียวกับสายวิชาชีพอื่น
พัฒนาระบบการอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ร่วมทั้งส่งเสริม การตลาดและการประชาสัมพันธ์ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หน่วยงานเอกชน และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์กรมหาชน) อย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด
ด้าน นพ.ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ผู้อำนวยการกองสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ข้อมูลในปี 2556 พบว่า ทั่วโลกจัดประชุมทั้งหมด 11,685 ครั้ง หัวข้อที่มีการประชุมมากที่สุดในโลก ได้แก่ ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ รองลงมา เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ ประเทศที่จัดประชุมมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จำนวน 829 ครั้ง รองลงมา เยอรมัน จำนวน 722 ครั้ง ส่วนไทยได้รับความนิยมจากนานาชาติ ใช้เป็นสถานที่จัดประชุมวิชาการ แสดงนิทรรศการต่างๆ ติดอับดับ 29 ของโลก อยู่ในอับดับ 7 ของเอเชีย รองจากญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และอินเดีย โดยกรุงเทพเป็นเมืองที่ใช้ประชุมนานาชาติ ติดอับดับ 4 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เท่ากับซิดนีย์ของออสเตรเลีย จำนวน 93 ครั้ง ยอดรายได้ 88,485 ล้านบาท จากผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็นชาวต่างชาติ 1 ล้านกว่าคน มั่นใจว่าหากเราสามารถประมูลงานประชุมวิชาการใหญ่ๆ มาไว้ในไทยได้ จะก่อให้เกิดรายได้อย่างมหาศาลและกระจายเม็ดเงินรายได้ลงถึงระดับท้องถิ่นด้วย
- 14 views