กระทรวงสาธารณสุข เผย 7 วันระวังอันตรายเทศกาลสงกรานต์ปี 2559 พบความรุนแรงของอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น ผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลกว่า 28,000 คน ต้องนอนโรงพยาบาลกว่า 4,200 ราย ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลกว่า 1,400 ล้านบาท คาดพิการที่ต้องดูแลต่อเนื่องเกือบ 200 ราย จะเสียค่าใช้จ่ายกว่า 1,200 ล้านบาท ชี้จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดในช่วงฉลอง 13-15 เมษายน เกินครึ่งตลอดเทศกาล เร่งรณรงค์ สร้างจิตสำนึกความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน และพัฒนามาตรฐานระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อลดความสูญเสียจากการบาดเจ็บจราจร
เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2559 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สุเทพ เพชรมาก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.อนุรักษ์ อมรเพชรสถาพร ผู้อำนวยการสำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน แถลงข่าว การดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในช่วง 7 วันระวังอันตรายเทศกาลสงกรานต์ปี 2559
นพ.โสภณ กล่าวว่า ภาพรวมการบาดเจ็บและการเสียชีวิตจากการจราจรช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2559 จากศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข พบผู้เสียชีวิต 504 คน มีผู้บาดเจ็บทั้งหมด 28,341 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2558 จำนวน 479 ราย เป็นผู้ป่วยนอก 24,093 ราย และพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 4,248 ราย ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลกว่า 1,400 ล้านบาท ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังต้องดูแลผู้บาดเจ็บที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะทำให้เกิดความพิการถึง 195 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.6 ของผู้ที่นอนโรงพยาบาล ซึ่งจะเสียค่าใช้จ่ายกว่า 1,200 ล้านบาท
จากการวิเคราะห์การบาดเจ็บและการเสียชีวิตจากการจราจรในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตพบว่าสูงสุดในช่วงการเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน พบผู้บาดเจ็บ 15,184 คน เกินครึ่งของผู้บาดเจ็บตลอด 7 วันอันตราย คิดเป็นร้อยละ 54 และมีผู้เสียชีวิต 244 ราย คิดเป็นเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้เสียชีวิตตลอดเทศกาล มีพฤติกรรมเสี่ยงคือดื่มสุราร้อยละ 62 ไม่สวมหมวกกันน็อค เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นการบาดเจ็บและเสียชีวิตในพื้นที่ไม่ใช่จากการเดินทาง
ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจะได้ถอดบทเรียน และนำเสนอมาตรการที่ช่วยลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตให้สอดคล้องกับเหตุที่เกิดขึ้น โดยในช่วงเฉลิมฉลอง คำตอบคือ ด่านชุมชน ที่เกิดจากการรวมตัวของคนในชุมชนเอง ที่ตระหนัก เข้าใจในปัญหา และตั้งใจที่จะแก้ปัญหา เพื่อให้ลูกหลานในชุมชนปลอดภัย และหากด่านชุมชนมีการทำงานจริงจัง จะช่วยสกัดลูกหลาน คนในหมู่บ้านที่เมาสุรา ไม่ให้ขับขี่รถออกนอกพื้นที่จนเกิดอุบัติเหตุและทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ไม่ให้เป็นการเดินทางไปซื้อเหล้าขวดสุดท้ายหรือไปเที่ยวครั้งสุดท้าย
ทั้งนี้ การลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากจราจร กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการต่อเนื่องทั้งปี ผลการดำเนินงานในรอบ 5 เดือน ของปี งบประมาณ 2559 มีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง โดยมีมาตรการสำคัญ 4 มาตรการ คือ
1.มาตรการระบบข้อมูล มีการบูรณาการข้อมูล 3 ฐาน ซึ่งช่วยให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง ทันเวลา ช่วยให้มีการสอบสวนสาเหตุการบาดเจ็บและเสียชีวิต ดำเนินการแล้วใน 37 จังหวัด
2.มาตรการป้องกัน ด้วยการแก้ไขจุดเสี่ยงและด่านชุมชน มีการชี้จุดเสี่ยงแล้ว 767 จุด ปิดจุดเสี่ยงแล้ว 512 จุด คิดเป็นร้อยละ 67 มีการตั้งด่านชุมชน 578 ด่าน และมีการใช้มาตรการองค์กรความปลอดภัยบนท้องถนนใน 22 จังหวัด
3.มาตรการการรักษา มีการเพิ่มปริมาณและคุณภาพการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินจากที่เกิดเหตุจนถึงโรงพยาบาล เพิ่มและพัฒนาคุณภาพทีมกู้ชีพฉุกเฉิน พัฒนามาตรฐานห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาล ขณะนี้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปผ่านเกณฑ์มาตรฐานเกือบ 80-100 เปอร์เซ็นต์ มีระบบการส่งต่อผู้ป่วยบาดเจ็บจากจราจรเชื่อมโยงถึงกัน มีช่องทางด่วน ช่วยลดการเสียชีวิตในที่เกิดเหตุและในโรงพยาบาล
และ 4.มาตรการด้านการบริหารจัดการ มีการจัดระบบโครงสร้างและการจัดการบริการฉุกเฉิน มีศูนย์บาดเจ็บระดับกระทรวง และจัดตั้งหน่วยผู้ป่วยฉุกเฉินในโรงพยาบาลแล้ว 72 แห่ง นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน รณรงค์ดื่มไม่ขับ สร้างจิตสำนึกการขับรถ ควบคุมการจำหน่ายเหล้า คุมเข้มมาตรการสวมหมวกนิรภัย คาดเข็มขัดนิรภัย
ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้มอบให้สำนักควบคุมป้องโรคทั้ง 12 เขตและสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งเจ้าหน้าที่ ออกตรวจเตือนและบังคับใช้กฎหมาย ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ร่วมกับตำรวจและสรรพสามิตในพื้นที่ ผลการตรวจการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 10– 19 เมษายน 2559 ตรวจทั้งหมด 1,245 ราย พบผู้กระทำผิดและมีการดำเนินคดี 463 ราย ความผิดอันดับหนึ่ง คือดื่มในที่ห้ามดื่ม เช่น บนถนน สวนสาธารณะ จำนวน 199 ราย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่เหลือขายผิดเวลา 92 ราย โฆษณาสื่อสารการตลาด 86 ราย ขายในสถานที่ต้องห้าม เช่น สวนสาธารณะ ร้านขาย 39 ราย ขาย ลด แลก แจก แถม 37 ราย และขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 7 รายกระทรวงสาธารณสุข เผย 7 วันระวังอันตรายเทศกาลสงกรานต์ปี 2559 พบความรุนแรงของอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น ผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลกว่า 28,000 คน ต้องนอนโรงพยาบาลกว่า 4,200 ราย คาดพิการที่ต้องดูแลต่อเนื่องเกือบ 200 ราย ชี้จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดในช่วงฉลอง 13-15 เมษายน เกินครึ่งตลอดเทศกาล เร่งรณรงค์ สร้างจิตสำนึกความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน และพัฒนามาตรฐานระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อลดความสูญเสียจากการบาดเจ็บจราจร
- 1 view