กระทรวงสาธารณสุขเผยผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า กว่าร้อยละ 80 เกิดจากถูกสุนัขเลี้ยงที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรค ล่าสุดปี 2559 นี้มีผู้ป่วยเสียชีวิต 3 ราย เนื่องจากไม่ไปพบแพทย์หลังถูกสัตว์กัดหรือข่วน โรคนี้เป็นโรคติดต่อร้ายแรง ต้องเฝ้าระวังและแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อเมื่อพบผู้ป่วย ยืนยันไม่เคยปิดบังตัวเลขผู้ป่วย แนะหากพบสุนัขหรือแมว มีอาการหางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง หรือพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เซื่องซึม ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้นำชุมชนทันที
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อสัตว์สู่คนร้ายแรง ผู้ติดเชื้อและแสดงอาการแล้วเสียชีวิตทุกราย โดยผู้เสียชีวิตกว่าร้อยละ 80 ถูกสุนัขเลี้ยงเองและสุนัขเพื่อนบ้านที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคกัดหรือข่วน ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 กำหนดให้โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังและแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งสำนักระบาดวิทยาได้มีการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกันและควบคุมโรคอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว รวมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องโรค การป้องกันและสถิติผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไม่เคยปิดบังตัวเลข ล่าสุดปี 2559 มีผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า 3 ราย จากการสอบสวนพบว่า ไม่ไปพบแพทย์หลังถูกสุนัขหรือแมวกัดข่วน ส่วนปี2558 มีรายงานผู้เสียชีวิต 5 ราย
ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ร่วมกับกรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่พื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกและองค์กรโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศภายในปี 2563 โดยมีมาตรการเฝ้าระวังค้นหาโรคอย่างทั่วถึง ควบคุมการนำสัตว์เข้ามาในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคในสุนัข และการฉีดวัคซีนในคนเมื่อถูกกัด ข่วน เป็นต้น หากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยป่วย มีอาการ หางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง หรือพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เซื่องซึม ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้นำชุมชนทันที
ด้าน นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สัตว์นำโรคพิษสุนัขบ้ากว่าร้อยละ 95 คือสุนัข รองลงมาคือ แมว สามารถตรวจพบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในน้ำลายได้ 1-7 วัน ก่อนแสดงอาการ ทั้งนี้ โอกาสที่คนจะติดเชื้อหลังถูกสัตว์ที่ป่วยหรือมีเชื้อโรคกัดหรือข่วน ขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อโรคที่เข้าไปในร่างกาย ตำแหน่งที่ถูกกัด เช่น ศีรษะ อายุ เช่น เด็กและผู้สูงอายุ จะมีความต้านทานต่อโรคต่ำกว่าหนุ่มสาว และสายพันธุ์ของเชื้อ ระยะฟักตัวของโรค มีตั้งแต่สัปดาห์หรืออาจนานเกิน 1 ปี อาการเริ่มแรก คือ เบื่ออาหาร เจ็บคอ มีไข้ อ่อนเพลีย คันรุนแรงบริเวณที่ถูกกัดและลามไปส่วนอื่น กระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง กลืนลำบาก โดยเฉพาะของเหลว กลัวน้ำ ปวดท้องน้อยและกล้ามเนื้อขากระตุก แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หรืออาจชัก เร็ง อัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด
การป้องกัน มีดังนี้
1.ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สัตว์เลี้ยง ครั้งแรกตั้งแต่อายุ 2-4 เดือน และฉีดซ้ำทุกปี
2.เลี้ยงสุนัขด้วยความรับผิดชอบ ไม่ไปปล่อยทิ้งในสถานที่สาธารณะ รวมทั้งช่วยกันลดจำนวนสุนัข/แมวจรจัดในชุมชน
3.ปฏิบัติตามคำแนะนำ คาถา 5 ย เพื่อป้องกันการถูกสุนัขกัด ได้แก่ อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห อย่าเหยียบสุนัข หรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน และอย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้านหรือที่ไม่ทราบประวัติ
และ 4.เมื่อถูกกัด ให้ล้างแผลให้สะอาด ขังสุนัข/แมวที่กัดดูอาการ อย่างน้อย 10 วัน และรีบไปพบแพทย์ เพื่อพิจารณาให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามแนวทางมาตรฐานฟรี สำหรับการตรวจยืนยันโรคพิษสุนัขบ้าในคน ส่งตัวอย่างตรวจที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สภากาชาดไทยและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
- 6 views