คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติประกาศเพิ่ม 6 โรค ติดต่ออันตรายที่ยังไม่เคยพบในประเทศไทย และ 23 โรคติดต่อที่เฝ้าระวัง สร้างความมั่นใจให้ประชาชนและประเทศไทยมีมาตรการป้องกันและการควบคุมโรคติดต่อที่เข้มแข็ง
เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2559 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ว่า การประชุมครั้งนี้ มีเรื่องพิจารณาสำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่
1. (ร่าง) ประกาศกระทรวงฯ ชื่อ อาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย ตามมาตรา 6 (1) ได้เพิ่ม 6 โรคติดต่ออันตรายที่ยังไม่เคยพบในประเทศไทยคือ โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ ไข้ลาสซา ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก และไข้เวสต์ไนล์ รวมโรคเดิมที่มีอยู่เป็น 12 โรค
2. (ร่าง) ประกาศกระทรวงฯ ชื่อ อาการสำคัญโรคติดต่อที่เฝ้าระวัง ตามมาตรา 6 (1) ได้เพิ่มโรคติดต่อที่เฝ้าระวังอีก 23 โรค จากเดิมมี 34 โรค รวมเป็น 57 โรค
นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า การเพิ่มชื่อโรคติดต่ออันตราย และโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการป้องกัน เฝ้าระวัง ควบคุมโรคให้เร็ว เป็นการสร้างความมั่นใจให้ประชาชนและประเทศไทยมีมาตรการป้องกันและการควบคุมโรคติดต่อที่เข้มแข็ง
ด้าน นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณา (ร่าง) ประกาศกระทรวงฯ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ในกรณีที่มีโรคติดต่ออันตราย โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังหรือโรคระบาดเกิดขึ้น ตามมาตรา 7(1) ด้วย ซึ่งจะมีการปรับปรุงแก้ไขในเนื้อหาเพื่อให้ครอบคลุม สะดวกแก่ผู้ปฏิบัติ และเสนอแก่คณะกรรมการฯ อีกครั้ง ก่อนเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามต่อไป ส่วนอีก 2 เรื่องที่ผ่านการพิจารณาดังกล่าวข้างต้น จะนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อลงนาม ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
- 668 views