สพศท.เผย ภาระงานพยาบาลคล้ายแพทย์ แต่ปัญหารุนแรงกว่า มีรายงานพยาบาลตั้งครรภ์ถูกบังคับขึ้นเวร บ้างถูกบังคับควบกะ ชี้พยาบาลภาครัฐกว่า 60% อายุมากกว่า 40 ปี สะท้อนพยาบาลอายุน้อยอยู่ในระบบไม่ได้ เหตุไม่มีสวัสดิการ ไม่ได้รับการคุ้มครองเมื่อได้รับอุบัติเหตุหรือถูกทำร้ายร่างกาย ไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ รายได้ต่อชั่วทำงานอยู่ในอัตราที่ต่ำ ไม่เหมาะสมกับความขาดแคลน จึงลาออกไปอยู่เอกชน
www.thaihospital.org เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2559 รายงานว่า พญ.สุธัญญา บรรจงภาค รองประธาน สพศท. กล่าวในงานสัมมนาภาวะฉุกเฉินในโรงพยาบาล ที่ สพศท.และแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกันจัด ณ ห้องประชุมไพจิตร ปวะบุตร อาคาร 7 ชั้น 9 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข วันที่18 มีนาคม 2559ว่า ปัญหาภาระงานของแพทย์ภาครัฐ เป็นอีกหนึ่งหัวข้อสัมมนา ซึ่ง สพศท.สนับสนุนแนวทางกำหนดภาระงานแพทย์ของแพทยสภา เนื่องจากโรงพยาบาลรัฐมีผู้ป่วยจำนวนมาก แพทย์ต้องเสียสละทำงานหนัก ขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ โดยภายหลังการอยู่เวร 24 ชั่วโมงต้องมาทำงาน ต่ออีก 8 ชั่วโมงทำงานโดยไม่มีวันหยุด สพศท.ไม่ต้องการให้เกิดอุบัติเหตุกับผู้ป่วยหรือตัวแพทย์เองเพราะทำงานเกินขีดความสามารถของมนุษย์ การจำกัดเวลาทำงานของแพทย์ ให้พอดีกับความสามารถของมนุษย์ ช่วยให้แพทย์ภาครัฐมีเวลาพักผ่อนเทียบเท่าบุคคลทั่วไปตามกฎหมายแรงงานซึ่งไม่คุ้มครองบุคลากรสาธารณสุขภาครัฐ ผู้ป่วยที่มารับการบริบาลจากแพทย์ภาครัฐ จะได้รับการประเมินการบำบัดรักษาโดยแพทย์ที่มีประสิทธิภาพในการทำงานเต็มที่ ไม่มีความอ่อนล้าจากการขาดการพักผ่อน
“ในสถานการณ์ปัจจุบัน ถ้าผู้ป่วยทราบว่ากำลังตรวจกับแพทย์ที่ต้องทำงานติดต่อกันมาตลอด 36 ชั่วโมงผู้ป่วยคนนั้นจะคิดอย่างไร” พญ.สุธัญญา กล่าว
พญ.สุธัญญา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ภาระงานของพยาบาลก็คล้ายกับแพทย์ แต่ปัญหารุนแรงกว่าของแพทย์มาก ในเวทีสัมมนา มีความเห็นมากมายจากพยาบาลอายุ 55 ปียังต้องขึ้นเวรทำงานกะบ่าย-ดึก และเชื่อว่า มีพยาบาลตั้งครรภ์ถูกบังคับหรือกดดันให้ขึ้นเวร จากการศึกษาของสำนักการพยาบาล พบว่า ปกติพยาบาลทำงาน 8 ชั่วโมง/เวร คิดเป็นจำนวนวันเฉลี่ย 27 วันต่อเดือน โดยบางวันทำงาน 16 ชั่วโมง เพราะถูกบังคับให้ควบกะ โดยข้าราชการทั่วไปทำงานเพียง 22 วันต่อเดือน จากการศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า พยาบาลที่ขึ้นเวรกะดึก 3 คืนต่อเดือน 15 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงขึ้น
“ในประเทศไทย พยาบาลภาครัฐมากกว่า 60% อายุมากกว่า 40 ปี แสดงว่า คนไข้ส่วนใหญ่ได้รับการดูแลโดยพยาบาลสูงอายุ อาจมีโรคประจำตัว ร่างกายไม่แข็งแรง โดยพยาบาลอายุน้อย เมื่อทำงานภาครัฐจนชำนาญ แต่ไม่มีสวัสดิการ ไม่ได้รับการคุ้มครองเมื่อได้รับอุบัติเหตุหรือถูกทำร้ายร่างกาย ไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ รายได้ต่อชั่วทำงานอยู่ในอัตราที่ต่ำ ไม่เหมาะสมกับความขาดแคลน พยาบาลเหล่านั้นจึงลาออกไปอยู่เอกชน เพราะมีประสบการณ์ในการดูแลคนไข้มาแล้ว อยู่ในวัยทำงาน บุคลิกดี ตรงกับความต้องการตลาดเอกชน สพศท.จึงขอให้สภาการพยาบาลออกแนวทางกำหนดภาระงานพยาบาลเช่นกัน” รองประธาน สพศท. กล่าว
ขอบคุณข่าวจาก : www.thaihospital.org
- 340 views