เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 เครือข่ายหมออนามัย ได้แก่ ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย สมาคมหมออนามัย มูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย สมาคมวิชาชีพสาธารณสุขในฐานะเครือข่ายหลักของบุคลากรด้านสุขภาพที่ทำงานในระดับปฐมภูมิ ได้จับมือผนึกกำลังสนับสนุนและร่วมรณรงค์ ดำเนินการด้านวิชาการและจัดการความรู้เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ อุบัติเหตุ และโรคเรื้อรัง โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคภายใต้แนวคิด “ประชารัฐ ที่เน้นพื้นที่เป็นฐาน ประชาชนเป็นศูนย์กลาง”
จะเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพของประเทศไทย การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ดีไม่ให้ประชาชนเจ็บป่วยเป็นแนวทางที่สำคัญที่สุดในการลดรายจ่ายด้านสุขภาพ การพัฒนาให้ประชาชนมีศักยภาพและหน้าที่ในการดูและสุขภาพตนเอง โดยการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการสนับสนุนของหมออนามัยซึ่งมีอยู่ทุกพื้นที่ทั่วไทย
นายปรเมษฐ์ จินา ประธานชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย กล่าวว่า บุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานอยู่ในสถานบริการระดับปฐมภูมิ ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดยรวมแล้วมีจำนวนมากกว่า 3 หมื่นกว่าคน กระจายอยู่ในชุมชนชนบทและชุมชนเมืองทั่วประเทศ มีบทบาทสำคัญอย่างสูงต่อการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนและชุมชนเข้มแข็ง ทั้งในด้านการควบคุมป้องกันโรคติดต่อ และการจัดการปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ
ด้วยจิตวิญญาณของหมออนามัยที่เข้าถึง เข้าใจ และพร้อมจะทำงานเพื่อประชาชน ทำให้สามารถลดการเจ็บป่วยและการตายของประชาชนได้เป็นจำนวนมาก ภายใต้บริบทของสถานการณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ปัญหาสุขภาพจึงมีความซับซ้อนมีขอบเขตกว้างไกลกว่าภาคสุขภาพ จำเป็นต้องดำเนินการเชิงรุกโดยกำหนดวิสัยทัศน์และจุดยืนประเด็นด้านสุขภาพตลอดจนปรับปรุงกลไกต่างๆ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพของประชากร สร้างความมั่นคงทางสาธารณสุขให้กับประเทศ
จากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น ทิศทางนโยบายการพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิจะต้องได้รับการทบทวน และบุคลากรสาธารณสุข “หมออนามัย” ต้องได้รับการพัฒนาอย่างจริงจัง เพื่อการปรับตัวและรับรู้การเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับบริบทที่แตกต่าง การสร้างความเข้มแข็งทางความคิดและการจัดการชีวิตส่วนตัว ตลอดจนการปลดจากพันธนาการที่ไม่เอื้อต่อการส่งเสริมการทำงานที่ดี ศักยภาพของหมออนามัยจึงต้องเปลี่ยนแปลงไป เพื่อรับมือกับปัญหาสุขภาพหน้าใหม่ ด้วยวิธีการทำงานแบบใหม่ๆ (Multi Disciplinary) และองค์ความรู้แนวใหม่ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ ฃการป้องกันควบคุมโรค และปัจจัยคุกคามสุขภาพ
หมออนามัยในยุคสมัยใหม่ จึงต้องมีศักยภาพสูงมากพอในการสานพลังเครือข่ายทางปัญญาและพลังทางสังคมที่มีอยู่ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ ด้วยจิตวิญญาณของหมออนามัยที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์
นายธาดา วรรธนปิยกุล ประธานมูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย กล่าวว่า การผนึกกำลังของภาคีเครือข่ายหมออนามัย จะเป็นการสร้างพลังอันยิ่งใหญ่และปรับภาพลักษณ์ของหมออนามัยในการป้องกันและจัดการปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ โดยใช้ยุทธศาสตร์การจัดการเชิงเครือข่าย สร้างความเป็นมืออาชีพตาม พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน เป็นการเสริมพลังการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ การจัดการปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ และพัฒนาสุขภาวะชุมชน อันจะส่งผลให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประชาชนบนพื้นฐานการทำงานอย่างมีความสุขของหมออนามัย
ผลจากองค์ความรู้ปฏิบัติ และองค์ความรู้ของหมออนามัยที่ได้จากโครงการ เป็นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม และการเชื่อมประสานของเครือข่ายหมออนามัยและภาคีเครือข่ายที่ทำงานเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพและพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิและสุขภาพชุมชน เพิ่มและพัฒนาศักยภาพหมออนามัยในกลุ่มที่สนใจ เป็นการเพิ่มความรู้ ศักยภาพ และสิ่งที่มีในตัวตนซึ่งในการดำเนินการในระยะต่อไป ในการพัฒนาชุมชนจัดการปัจจัยเสี่ยงต้นแบบที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
- 19 views