กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยขณะนี้คนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังมากถึง 8 ล้านคน ต้นเหตุใหญ่ร้อยละ 70 เกิดจากป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เร่งสร้างระบบดูแล จัดอบรม อสม.รักษ์ไต เพื่อชะลอเกิดไตวายระยะสุดท้าย นำร่องเต็มพื้นที่แรกใน 5 จังหวัดเขตสุขภาพที่ 3 ทำงานเป็นทีมเชื่อมโยงทีมในคลินิกโรคไตในโรงพยาบาลชุมชน ทีมหมอครอบครัวเยี่ยมบ้านและญาติที่ดูแลผู้ป่วย ชี้มีผลวิจัยพบว่าให้ผล สามารถชะลอเกิดไตวายระยะสุดท้ายได้นานถึง 14 ปี
นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า สบส.ได้ร่วมมือกับเขตสุขภาพที่ 3 ซึ่งมี 5 จังหวัด คือ กำแพงเพชร อุทัยธานี ชัยนาท พิจิตร และนครสวรรค์ สร้างระบบดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังเป็นพื้นที่แรกของประเทศ ป้องกันการเกิดปัญหาไตเสื่อม ไตวาย โดยจัดอบรมให้ความรู้ อสม.ให้เป็น อสม.รักษ์ไต
คัดเลือก อสม.หมู่บ้านละ 1 คน รวม 1,190 คน เข้าอบรมและทำงานร่วมกับทีมคลินิกโรคไตเรื้อรัง ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และนักโภชนาการ ของโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ 5 จังหวัด และปฏิบัติงานร่วมกับทีมรักษ์ไตซึ่งเป็นทีมหมอครอบครัวซึ่งมีบุคลากรสาขาวิชาชีพต่างๆ ออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมทั้งผู้ป่วยโรคไตวายและญาติที่ให้การดูแลผู้ป่วย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลและปฏิบัติตัวถูกต้อง โดยเน้นหนักการควบคุม 4 เรื่อง ซึ่งเป็นบันได 4 ขั้นป้องกันการเกิดโรคไตเรื้อรังและไตวาย ได้แก่ การประเมินการรับประทานอาหารและให้คำแนะนำที่เหมาะสม โดยเฉพาะรสเค็มได้แก่เกลือ น้ำปลา ผงชูรส ปลาร้า การตรวจวัดความดันโลหิต การตรวจสอบการใช้ยาที่มีผลเสียต่อไต เช่นยาแก้ปวดข้อ ยาชุด เป็นต้น และติดตามการออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน
“โดยปกติ ไตคนเราจะทำงานลดลงอย่างช้าๆ ตามธรรมชาติเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป เสื่อมปีละประมาณ 1% แต่ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในประเทศไทยมีมากขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุใหญ่ประมาณร้อยละ 70 เกิดมาจากโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยคาดว่าทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน โดย 1 ใน 3 มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย 2 แสนคน มีผู้เสียชีวิตจากไตวายปีละ 13,000 คน และมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10,000 คน ผู้ป่วยไต 1 คน มีค่าใช้จ่ายในการล้างไตด้วยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือล้างไตผ่านทางหน้าท้องต่อคนเฉลี่ยเดือนละ 30,000 บาท แต่ละปีใช้งบสูงถึง 3,000 ล้านบาท คาดว่าปี 2560 อาจต้องใช้งบประมาณถึงกว่า 17,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก”
นพ.บุญเรือง กล่าวต่อว่า มีผลการศึกษาวิจัยของสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ร่วมกับ รพ.คลองขลุง รพ.ทรายทองพัฒนา จ.กำแพงเพชร พบว่าหากผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ซึ่งมีระดับรุนแรง 5 ระดับ ตั้งแต่น้อยๆ จนถึงระดับที่ 5 ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย รุนแรงที่สุด ไตถูกทำลายไปแล้วร้อยละ 90 ต้องล้างไตฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียมช่วยยืดชีวิต หากได้รับการดูแลตั้งแต่ระยะแรกๆ ในโรงพยาบาลชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ จะชะลอการเกิดไตวายระยะสุดท้ายนานขึ้นจาก 7 ปี เป็น 14 ปี ช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยโรคดีขึ้น ซึ่งการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนมาก ต้องอาศัยทำงานเป็นทีมเชื่อมโยงกันตั้งแต่ที่บ้านผู้ป่วยจนถึงโรงพยาบาลชุมชน จึงจะได้ผลดี ประสบผลสำเร็จ
สำหรับ อสม.ที่ผ่านการอบรมเป็น อสม.รักษ์ไตแล้ว จะร่วมในทีมหมอครอบครัว ลงเยี่ยมผู้ป่วยและญาติที่ดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่บ้าน ประเมินการรับประทานอาหารของผู้ป่วย เพื่อควบคุมอาหารรสเค็ม เช่น น้ำปลา ผงชูรส ปลาร้า เป็นต้น ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจสอบการกินยาให้ตรงตามที่แพทย์สั่ง การใช้ยาที่มีผลให้ไตเสื่อมเช่นยาแก้ปวดอย่างแรง ยาสมุนไพร ยาชุด ติดตามการออกกำลังกายของผู้ป่วยเพื่อควบคุมน้ำหนักตัวต่อเนื่อง และตรวจคัดกรองกลุ่มวัยทำงาน ค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมป้องกันไม่ให้ป่วยและตรวจคัดกรองป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน ในกลุ่มผู้ป่วยทั้ง 2 โรคนี้ ทั้งที่ไต ตา และเท้า หากได้ระบบที่เข็มแข็งจะขยายผลทั่วประเทศต่อไป
- 143 views