ในต่างประเทศได้มีการนำเอา “ศิลปะบำบัด” เข้ามาใช้กับผู้ที่ป่วยทางจิต-กาย มานานแล้ว แต่สำหรับประเทศไทยแม้ว่าจะมีการนำเอาศิลปะบำบัดเข้ามาใช้มานานกว่า 2 ทศวรรษ แต่การรับการรู้ในเรื่องของกล่าวของประชาชนทั่วไปอาจจะบอกได้ว่า ยังน้อยมาก
“ครูมอส” อนุพันธ์ พฤกษ์พันธ์ขจี
“ครูมอส” อนุพันธ์ พฤกษ์พันธ์ขจี จิตรกรและนักศิลปะบำบัด สตูดิโอศิลปะด้านใน (Arts Inner Place) และผู้อำนวยการสถาบันศิลปะบำบัดในแนวมนุษยปรัชญา (Therapeutikum) ผู้ที่คลุกคลีกับการทำงานศิลปะบำบัดมานานกว่า 20 ปี ได้เล่าถึงสาเหตุของความสนใจด้านศิลปะบำบัดว่า ประเด็นอยู่ที่ว่า ศิลปะสามารถเชื่อมโยงกับทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกอย่างคือศิลปะ แต่คนปัจจุบันขาดศิลปะ
เริ่มแรก อนุพันธ์ ได้ทำงานสอนศิลปะเด็ก และในปี พ.ศ.2543 ได้ไปศึกษาด้านวอลดอร์ฟ เมืองสตุดการ์ท ประเทศเยอรมนี ต่อมาปี พ.ศ.2546 เข้ารับการอบรมด้านศิลปะบำบัด Hibernia School of Artistic Therapy ประเทศอังกฤษ และในปี พ.ศ. 2547 ได้รับรับทุนจากรัฐบาลเยอรมนี ฝึกอบรมด้านศิลปะบำบัด ที่เมืองสตุดการ์ด เยอรมนี
ในช่วง 10 ปีแรกยังเป็นการทำงานร่วมกับแพทย์ที่ดูแลเด็กพิเศษ โดยเฉพาะกลุ่มอาการออทิสติก ก่อนจะขยายสู่ศิลปะบำบัดสำหรับผู้ใหญ่ ในโรงพยาบาลเอกชน 3 แห่ง มีตั้งแต่อายุ 5 ขวบ จนถึง 80 ปี จนมาเปิดสตูลิโอศิลปะด้านใน แต่ก็ยังทำงานควบคู่กับแพทย์ด้วย
ครูมอส กล่าวว่า ในยุคปัจจุบันศิลปะถูกตัดออกจากสังคม ถูกกำหนดให้ใหม่ว่า ศิลปะเป็นเพียงแค่วิชาหนึ่งในหลักสูตร เน้นการทำอะไรให้สำเร็จรูปมากขึ้น ในความจริงแล้วศิลปะ คือความงาม ความสมดุลแห่งชีวิต เมื่อศิลปะถูกตัดออกจากชีวิตและสังคม มีความเร่งรีบ แก่งแย่ง เข้ามาแทนที่ ส่งผลให้คนมีความเครียดมากขึ้น มีอาการทางจิตมากขึ้น อาจจะมองได้ว่า ศิลปะ คือความงามที่นุ่มนวล ใช้สมองในการจินตนาการ แต่เทคโนโลยี คือความรวดเร็ว ที่มีความแข็ง ใช้แต่มือ ใช้จินตนาการน้อย เพราะทุกอย่างสำเร็จรูปหมดแล้ว
เมื่อถามถึงวิธีการใช้ “ศิลปะบำบัด” ทำได้อย่างไร ครูมอส บอกว่า การใช้ศิลปะบำบัดเป็นการทำงานควบคู่กับแพทย์ หรือจิตแพทย์ ซึ่งเริ่มแรกแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยอาการต่างๆ ของผู้ป่วย หลังจากนั้นจะส่งมายังหน่วยงานของตน เราจะศึกษาผู้ป่วยจากรูปภาพและสีสันที่เขาใช้ระบายในรูปภาพที่เขาวาดขึ้นเอง ซึ่งเราจะเน้นเรื่องของความสวยงาม หรือเหมือนจริง ในภาพๆ หนึ่ง จะมีทั้งขาวดำ มืด สว่าง จากนั้นจะมีศึกษาประวัติของผู้ป่วย และพูดคุย เพื่อหาจุดที่ทำให้เขาเปลี่ยนแปลง ส่วนระยะเวลาในการรักษาผู้ป่วยแต่ละคนจะใช้เวลาไม่เท่ากัน ประมาณ 15-20 สัปดาห์ ต่อคน หรือบางคนอาจใช้เวลาเป็นปี เช่น กลุ่มเด็กออทิสติก สมาธิสั้น
ปัจจุบันมีคนเข้ามารับการรักษาด้วยศิลปะบำบัดมากขึ้น ในกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่กังวลกับตัวเอง มีความคิดที่ซับซ้อน ซึ่งส่วนมากครอบครัวจะพามาเมื่อสังเกตเห็นความผิดปกติในตัวผู้ป่วย
ครูมอส บอกว่า การใช้ศิลปะบำบัดเป็นการใช้ศิลปะรักษาให้ชีวิตเกิดความสมดุลในตัวเอง ให้คนเข้าใจและอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น หาความพอดีที่เหมาะสมกับตนเอง
ซึ่งทั้งความพอดีหรือพอใจ สามารถหาได้ทุกวันหรือสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยมีศิลปะเป็นตัวเชื่อมโยงให้เราเข้าไปหาความพอดี/พอใจ ผ่านลายเส้น และสี ซึ่งในแต่ละบุคคลจะมีสีอยู่ในตนเอง ในกระบวนการรักษา ศิลปะจะนำให้คนกลับไปสู่ธรรมชาติ ซึ่งเราจะไม่ตัดธรรมชาติ แต่เราจะเป็นผู้ให้ธรรมชาติเป็นผู้รักษาสมดุล โดยที่มือ ใจ และความคิด ทั้งสามส่วนนี้จะต้องทำงานไปพร้อมๆ กัน โดยที่ศิลปะจะเข้าไปช่วยเสริมในสิ่งที่หายไป
ปัจจุบันครูมอสได้เปิดหลักสูตรศิลปะบำบัด เป็นหลักสูตร 3 ปี สำหรับบุคคลที่สนใจทั่วไป แต่มีเงื่อนไขที่ว่าจะต้องจบการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป
นอกจากนี้ ครูมอส บอกว่า ศิลปะ คือ สิ่งมีชีวิต โลกมีหลากสี ศิลปะบำบัดจึงเป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งในการรักษาทั้งโรคทางกายและใจ ซึ่งในทางการแพทย์ก็ได้บอกไว้ว่า โรคที่เกิดขึ้นมีความสัมพันธ์กับความเครียด ดังนั้นในการรักษาโรคต่างๆ ในปัจจุบันจึงต้องเป็นการรักษาแบบองค์รวม
สุดท้าย ครูมอส กล่าวว่า การสร้างสมดุลให้กับชีวิต คือ การใช้ชีวิตกับหลักธรรมชาติ ด้วยวิธีง่ายๆ คือ 1.ใช้มือในการเริ่มต้นสิ่งต่างๆ ในชีวิตมากกว่าการใช้เทคโนโลยี 2.เดินสั้นๆ ทุกวันๆ ละ 20 นาที
- 465 views