อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ส่งเจ้าหน้าที่กองกฎหมายและเจ้าหน้าที่สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะลงตรวจสอบสถานปฏิบัติธรรมที่ให้บริการดีท็อกซ์ด้วยการรับประทานผลไม้ ดื่มน้ำมะพร้าวผสมกับน้ำใบย่านาง จนเกิดเหตุเสียชีวิต ระบุบริการดีท็อกซ์ถือว่าเป็นการแพทย์ทางเลือก และจัดอยู่ในบริการของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ผู้ให้บริการจะต้องผ่านการอบรมความรู้จากหลักสูตรของหน่วยราชการ และสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรอง

จากกรณีการแชร์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊คว่า มีประชาชนที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เสียชีวิตหลังจากการล้างพิษด้วยวิธีกินแต่ผลไม้ ดื่มน้ำมะพร้าวผสมกับน้ำใบย่านาง ต่อเนื่องเป็นเวลา 2-3 วัน ที่สถานปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งใน กทม.นั้น

นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า สบส. ได้ส่งเจ้าหน้าที่กองกฎหมายและเจ้าหน้าที่สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ เข้าตรวจสอบสถานปฏิบัติธรรมเป็นการด่วน ซึ่งการล้างพิษ หรือดีท็อกซ์ถือว่าเป็นการแพทย์ทางเลือก จัดอยู่ในประเภทกิจการสปาเพื่อสุขภาพ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการกำหนดสถานที่เพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมสวย มาตรฐานของสถานที่การบริการ ผู้ให้บริการ หลักเกณฑ์ และวิธีการตรวจสอบเพื่อการรับรองให้เป็นไปตามมาตรฐาน สำหรับสถานที่เพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมสวย ตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2547 เป็นต้นมา

ซึ่งบริการประเภทนี้ประกอบด้วยการนวดเพื่อสุขภาพและการใช้น้ำเพื่อสุขภาพ โดยอาจมีบริการอื่นเสริมด้วย เช่น การอบไอน้ำเพื่อสุขภาพ การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ โภชนบำบัดและการควบคุมอาหาร โยคะและการทำสมาธิ การใช้สมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ตลอดจนการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ สถานที่ให้บริการต้องขึ้นทะเบียนกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หากตรวจสอบพบว่าไม่มีการขึ้นทะเบียน แสดงว่าเป็นสถานประกอบการเถื่อน ขอความร่วมมือประชาชนหากพบว่ามีการให้บริการดีท็อกซ์ในสถานที่ที่ไม่ใช่สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ หรือสถานพยาบาล ให้แจ้งที่สายด่วน สบส. 02-193-7999  หรือเฟซบุ๊คสารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์, เฟซบุ๊คมือปราบสถานพยาบาลเถื่อน

นพ.บุญเรือง กล่าวต่อว่า ขณะนี้ สบส.ได้จัดทำร่างกฎหมาย “พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559” สำเร็จแล้ว อยู่ระหว่างลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังใช้ประมาณเดือนตุลาคม 2559 เพื่อควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพทั้ง 3 ประเภท ซึ่งไม่ได้เป็นการรักษาโรค ได้แก่

1.กิจการสปา

2.กิจการนวดเพื่อสุขภาพ

3.กิจการนวดเพื่อเสริมความงาม รวมถึงกิจการอื่นๆ เพื่อสุขภาพ

 กิจการทั้งหมดนี้จะต้องขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายทั้งผู้รับอนุญาต ผู้ดำเนินการ และผู้ให้บริการ จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานมีวุฒิบัตร หรือประกาศนียบัตรด้านการบริการเพื่อสุขภาพที่ได้รับการรับรองจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และห้ามมิให้มีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณของบริการเพื่อสุขภาพว่าสามารถบำบัด รักษาหรือป้องกันโรคได้ทุกชนิด 

ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า ในปี 2558 ประเทศไทยมีสถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่ได้รับรองมาตรฐานแล้วรวมทั้งหมด 1,609 แห่ง ประกอบด้วยสปา 509 แห่ง นวดเพื่อสุขภาพ 1,070 แห่ง นวดเพื่อเสริมสวย 30 แห่ง โดยอยู่ในส่วนภูมิภาค 1,265 แห่ง ที่เหลืออีก 344 แห่งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งในช่วง 6 เดือน ที่รอกฎหมายฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ สำนักสถานพยาบาลฯ จะดำเนินการจัดเตรียมตั้งคณะกรรมการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานทั้งใน และนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริการเพื่อสุขภาพ รวมทั้งสิ้น 13 คน โดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน เพื่อกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมพัฒนาสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ รวมทั้งหลักเกณฑ์การรับรองคุณวุฒิผู้ดำเนินการและผู้ให้บริการนอกจากนี้จะจัดอบรมชี้แจงผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎหมายได้ทันทีเมื่อมีผลบังคับใช้