สธ.ร่วมกับภาคีเครือข่าย รณรงค์วันวัณโรคสากล ยุติปัญหาวัณโรคในอีก 20 ปี เผยไทยมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ปีละประมาณ 1.2 แสนคน ในจำนวนนี้เข้าถึงการรักษาแค่ 7 หมื่นคน อีก 5 หมื่นยังเข้าไม่ถึงการรักษา เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ตั้งเป้าลดผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ให้ต่ำกว่าหมื่นราย

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559 ที่โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค พญ.ภาวิณี รุ่งทนต์กิจ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร, พล.อ.ท.นพ.มานพ จิตต์จรัส รองประธานกรรมการกลาง สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, Dr.Daniel Kertesz ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย, นางจิตรา ธรรมบริสุทธิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าวกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันวัณโรคสากลปี 2559 โดยหัวข้อการรณรงค์ของปีนี้คือ “รวมพลัง ยุติวัณโรค” โดยมีความหมายว่า “ร่วมกันทุกภาคส่วน เพื่อจะยุติปัญหาวัณโรค” ซึ่งวันที่ 24 มีนาคมของทุกปีเป็นวันวัณโรคสากล (World TB Day) ตามที่สหพันธ์องค์กรต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติ กำหนดไว้

นพ.อำนวย กล่าวว่า วัณโรคยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย โดยคาดการณ์ว่าในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 120,000 ราย และผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนาน คาดว่าน่าจะมีประมาณ 2,200 ราย ซึ่งในจำนวนผู้ป่วยรายใหม่นี้มีผู้ป่วยเพียงประมาณ 70,000 ราย เท่านั้นที่ขึ้นทะเบียนรักษา และคาดว่ามีผู้ป่วยที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนรักษาประมาณ 50,000 ราย ในส่วนผู้ป่วยกลุ่มประชากรเฉพาะ เช่น ประชากรต่างด้าว คาดว่ามีผู้ป่วยวัณโรคปีละประมาณ 2,000 ราย ผู้ต้องขังในเรือนจำ 1,407 ราย เป็นต้น

ทั้งนี้มากกว่าร้อยละ 50 ของผู้ป่วยวัณโรค อาศัยอยู่ในเขตเมืองใหญ่ เนื่องจากจำนวนประชากรมาก แออัด มีการเคลื่อนย้ายของประชากรสูง เพื่อมาใช้แรงงาน ศึกษาเล่าเรียน และประกอบอาชีพ

กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาวัณโรค และได้เร่งรัดให้มีการยกระดับเป้าหมายลดโรค จากเดิมมุ่งเน้นการควบคุมการระบาดของโรค มุ่งไปสู่การยุติปัญหาวัณโรคในประเทศไทย โดยใน 5 ปีแรก (ปี 2559-2563) มีเป้าหมายลดอัตราป่วยลงร้อยละ 20 หรือให้เหลือผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 96,000 ราย และเป้าหมายระยะยาวคือให้อัตราป่วยรายใหม่ลดเหลือน้อยกว่า 10 ต่อประชากรแสนคน (ประมาณ 7,000 ราย) ใน 20 ปีข้างหน้า

ดังนั้น จึงกำหนดแนวทางสำคัญ 4 ด้านดังนี้

1.ให้ประชาชนเข้าถึงบริการตามสิทธิประโยชน์ที่กฎหมายกำหนด อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน

2.ขับเคลื่อนแผนเปลี่ยนผ่านเมื่อการสนับสนุนจากกองทุนโลกสิ้นสุดลง (Transition plan)

3.เสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายการควบคุมป้องกันวัณโรค ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคมและชุมชน

และ 4.สนับสนุนการวิจัย พัฒนาเครื่องมือและนวัตกรรมใหม่มาใช้ในการควบคุมป้องกันวัณโรค

นพ.อำนวย กล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรค มีแผนงานที่สำคัญ เพื่อดำเนินการลดอัตราป่วย ตาย จากวัณโรค ดังนี้

1.พัฒนารูปแบบการป้องกันควบคุมวัณโรคในเขตเมืองใหญ่ เพื่อค้นหาและคัดกรองค้นหาวัณโรคเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ต้องขัง แรงงานสถานประกอบการ ผู้ขับขี่รถสาธารณะ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ ให้เข้าสู่ระบบการรักษามากขึ้น ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยและระบบส่งต่อ สร้างความตระหนักเรื่องวัณโรคในชุมชน พัฒนาระบบข้อมูลและเชื่อมโยงเครือข่ายสถานบริการ เน้นการมีส่วนร่วมของเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน 

2.จัดหาเทคโนโลยีใหม่และได้ผลเร็วมาใช้ในการวินิจฉัยวัณโรค และวัณโรคดื้อยา

3.จัดหายาวัณโรคตัวใหม่มาใช้ในการบริหารจัดการวัณโรคดื้อยา

และ 4.พัฒนาเครือข่ายในพื้นที่ ให้มีส่วนร่วมในการควบคุมป้องกันวัณโรค

ขณะเดียวกัน ในวันนี้ได้มีพิธีมอบรางวัลแก่หน่วยงานที่มีผลงานการดูแลผู้ป่วยวัณโรคเป็น อย่างดี (TB-free Excellence Award) ตามโครงการรณรงค์ประเทศไทยปลอดวัณโรค จำนวน 10 แห่ง ดังนี้

1.รพ.สมเด็จพระยุพราชนครไทย จ.พิษณุโลก

2.รพ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช

3.รพ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย

4.รพ.ระนอง

5.รพ.สมุทรปราการ

6.รพ.สมเด็จพระยุพราชกุฉินารายน์ จ.กาฬสินธุ์  

7.รพ.เซนทรัลปาร์ค จ.สมุทรปราการ  

8.รพ.อุตรดิตถ์ จ.อุตรดิตถ์  

9.รพ.ระยอง

และ 10.รพ.ปากช่องนานา จ.นครราชสีมา

เพื่อเป็นการส่งเสริมให้แพทย์และทีมงานมีกำลังใจ และเห็นความสำคัญในการพัฒนาการบริการแก่ผู้ป่วยวัณโรค ทั้งในด้านการรักษา การให้คำปรึกษา ตลอดจนการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยในการปฎิบัติตนและดูแลรักษาตนเองให้มีคุณภาพ ชีวิตที่ดีขึ้น

ขอแนะนำประชาชนให้สังเกตอาการเจ็บป่วย โดยอาการของวัณโรคจะเริ่มจากไอเรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์ มีไข้ต่ำๆ ในช่วงบ่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด หากพบผู้ที่มีอาการดังกล่าว ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาให้เร็วที่สุด เพราะ " วัณโรคหากพบเร็ว โอกาสรักษาหายสูงและไม่แพร่กระจายเชื้อ" ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรคโทร 0-2212-2279 กด 4 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422