อาจารย์คณะเภสัชฯ ม.ขอนแก่น ห่วงเจรจา TPP กระทบ “บัตรทอง” ทำค่ายาผู้ป่วยเพิ่ม ส่งผลต่อการเข้าถึงยาได้ เหตุจากการขยายผูกขาดสิทธิบัตรยาต้นแบบ เพิ่มคุ้มครองข้อมูลทางยาให้กับบริษัทยาที่ขึ้นทะเบียนรายแรก ทำกระบวนการผลิตยาสามัญชะงัก แถมถูกยื้อจัดหาและจัดซื้อยาเข้าสู่ระบบล่าช้า ระบุแม้รัฐชดเชยงบค่ายาเพิ่มได้ แต่ซ้ำเติมอุตสาหกรรมยาประเทศถอยหลังเพิ่ม เตือนพิจารณาผลความคุ้มค่า
รศ.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์
รศ.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาผลกระทบเพื่อเตรียมเจรจา ข้อเสนอความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) ซึ่งในส่วนผลกระทบด้านสาธารณสุขจากความตกลงการค้า TPP นั้น พบว่าจะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขโดยรวมสูงขึ้น โดยเฉพาะค่ายา การตรวจสอบมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ที่ปรับปรุงใหม่ (remanufactured) ลดการควบคุม ยาสูบและแอลกอฮอล์
รศ.ภญ.นุศราพร กล่าวว่า กรณีผลกระทบในข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญานั้น พบว่าการคุ้มครองด้านสิทธิบัตรยาจะขยายมากกว่าการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้หลักเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (WTO) เช่น การขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยาจากที่ WTO กำหนดไว้ 20 ปี โดย ให้ชดเชยเวลาคุ้มครองกรณีการจดสิทธิบัตรและการขึ้นทะเบียนยาที่บริษัทยาอ้างว่าช้าเกินเหตุ นั่นหมายถึงการผลิตและนำเข้ายาสามัญในยาดังกล่าวจะต้องถูกยืดออกไปเช่นกัน
ขณะเดียวกันยังกำหนดให้คุ้มครองข้อมูลยาที่ยื่นเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นรายแรก (Data exclusivity) โดยถือเป็นเอกสิทธิ์บริษัทยาที่ขึ้นทะเบียนรายแรกเท่านั้น ทั้งที่องค์การค้าโลกไม่มีข้อตกลงนี้ จะทำให้การผลิตยาสามัญออกสู่ตลาดช้าลง เนื่องจากบริษัทยาสามัญต้องเริ่มกระบวนการทดลองยาใหม่ทั้งหมด ทั้งที่มีการพิสูจน์เรื่องความปลอดภัยตัวยาสำคัญแล้ว จึงถือเป็นอุปสรรคสำคัญของการมียาสามัญมาทดแทนยาที่หมดสิทธิบัตร เพราะต้องมีการลงทุนในการทดลองสูงมาก ราคายาสามัญจึงจะสูงขึ้นจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นตามข้อตกลง TPP รวมทั้งจะใช้เวลานานกว่าเดิม 5-7 ปี จึงจะได้ยาสามัญมาใช้
นอกจากนี้ การที่ TPP ขอให้ยอมรับการจดสิทธิบัตรที่เดิมตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรของไทยไม่ยอมรับให้ได้สิทธิบัตร เช่น เรื่องข้อบ่งใช้ใหม่ หรือที่เรียกคุณลักษณะการให้สิทธิบัตรประเภทนี้ว่าสิทธิบัตรที่ไม่มีวันสิ้นสุด (Evergreening Patent) ด้วยการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติยาเก่าเล็กน้อยช่วงใกล้หมดอายุสิทธิบัตรยา ทำให้เป็นการขยายอายุสิทธิบัตรของยาเก่า และบริษัทยาสามัญเข้าสู่ตลาดยาได้ช้าเช่นกัน
“หากถามว่าข้อตกลงด้านสิทธิบัตรยากระทบต่อระบบบัตรทองหรือไม่ ต้องบอกว่าในงบเหมาจ่ายรายหัวปีละกว่าแสนล้านบาทต่อปี เป็นค่ายาร้อยละ 30 โดยส่วนหนึ่งเป็นยาต้นแบบที่ยังไม่หมดสิทธิบัตร จึงยังไม่มียาสามัญ โดยยากลุ่มนี้ที่ยังไม่หมดสิทธิบัตรจะมีราคาแพง แม้ว่า สปสช.ไม่มีตัวเลขภาพรวมยาต้นแบบที่ใช้ทั้งประเทศ แต่ข้อมูลเบื้องต้นการจัดซื้อยารวมเฉพาะที่ สปสช.ในปี 2558 มีจำนวน 56 รายการ คิดเป็นมูลค่าจัดซื้อ 4,500 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 28 รายการ เป็นกลุ่มยาชีววัตถุหรือวัคซีนมูลค่า 1,800 ล้านบาท โดยเป็นกลุ่มยาที่ติดสิทธิบัตร 9 รายการ หากระยะเวลาผูกขาดยาวนานขึ้น จะทำให้ค่ายาในระบบเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งยาบางรายการเป็นยาที่ผู้ป่วยต้องใช้ไปตลอดชีวิต เช่น ยาต้านไวรัสเอดส์ เป็นต้น ดังนั้นงบเหมาจ่ายรายหัวคงไม่พอแน่นอนและจะชดเชยอย่างไร รวมถึงการชดเชยหากผู้ป่วยมีอาการลุกลามหรืออาการแทรกซ้อนจากการไม่ได้รับยาทันเวลา และชดเชยผลกระทบทางสังคม” อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว
รศ.ภญ.นุศราพร กล่าวว่า ส่วนข้อตกลงด้านความโปร่งใสและต่อต้านคอร์รัปชั่น ดูเหมือนจะเป็นข้อตกลงที่ดี แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดพบว่าประเทศใดที่ดำเนินนโยบายระบบสุขภาพที่ต้องจัดซื้อยาและเครื่องมือแพทย์ จะต้องเปิดข้อมูลจัดซื้อที่โปร่งใส่ ที่ผ่านมา สปสช.มีการดำเนินการอย่างโปร่งใสอยู่แล้ว และไม่เคยมีการร้องเรียนในเรื่องประสิทธิผลของยา แต่ในข้อตกลง TPP จะเปิดช่องให้มีคัดค้านได้ ทั้งด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผลของยาที่จัดซื้อ ซึ่งจะส่งผลให้การจัดซื้อยาต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นและล่าช้าออกไป ดังนั้น สปสช.จะต้องเตรียมสำรองยาเพิ่มขึ้น เพื่อกันปัญหาขาดแคลนยา โดยจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม เช่นเดียวกับข้อตกลงการแข่งขันทางการค้าและการจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐที่ให้ยกเลิกสิทธิพิเศษการจำหน่ายยาและเวชภัณฑ์ในสถานพยาบาลภาครัฐกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพราะในขณะที่เงินทุนและความเข้มแข็งของบริษัทยาที่ไม่เท่ากัน อาจซ้ำเติมให้อุตสาหกรรมยาในประเทศให้อ่อนแอลงไปอีก
“หากถามถึงความคุ้มค่าที่ไทยจะได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จาก TPP คงตอบไม่ได้ว่าคุ้มค่าหรือไม่ เพียงแต่ค่ายาที่เพิ่มขึ้น ต้องถามว่าจะชดเชยในระบบได้หรือไม่ และที่ระบุว่า หากการค้าดีจะส่งผลดีต่อระบบสาธารณสุข ที่ผ่านมาไม่เคยปรากฎการนำเงินที่ได้จากเจรจาข้อตกลงการค้าต่างๆ มาใส่ให้กับระบบสาธารณสุข แต่ภาพที่ปรากฎคือ อุตสาหกรรมยาในประเทศอ่อนแอลง ผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่แต่เฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อความมั่นคงด้านยาของประเทศในระยะยาว อีกทั้งที่ผ่านมายังมีรายงานวิชาการว่า จากการเจรจาการค้าแต่ละครั้ง ประเทศไทยได้นำข้อตกลงมาใช้ประโยชน์ไม่ถึงร้อยละ 37 จึงต้องศึกษาและพิจารณาอย่างรอบด้าน” รศ.ภญ.นุศราพร กล่าว.
ขอบคุณที่มาภาพ TPP https://tax.thomsonreuters.com
- 9 views