กระทรวงสาธารณสุขนำร่อง ตั้งศูนย์สร่างเมา คู่ด่านชุมชน ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 59 ทดลองมาแล้วหลายแห่งได้ผลดีลดอุบัติเหตุได้จริง ผลศึกษาพบคนเมามีแอลกอฮอล์ในเลือด 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่ม 6 เท่าตัว
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้ความปลอดภัยทางถนน เป็นนโยบายสำคัญและเร่งด่วนในปี 2559 วางแผนการดำเนินงาน เชิงรุกตลอดทั้งปี เพื่อลดการเสียชีวิตและความพิการที่ตามมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในวัยทำงานและเป็นหัวหน้าครอบครัว ข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 จากศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2558-4 มกราคม 2559 มีผู้บาดเจ็บที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล 27,051คน เสียชีวิต 436 คน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากที่สุด
นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า แม้หลายฝ่ายจะร่วมมือกันตั้งแต่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเอกชน ใช้มาตรการต่างๆ อาทิ รณรงค์ “เมาไม่ขับ” ตั้งด่านชุมชน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุก็ตาม แต่การเมาก็ยังคงเป็นสาเหตุอันดับต้นๆของการเกิดอุบัติเหตุ กระทรวงสาธารณสุข ได้คิดวิธีการป้องกันอุบัติเหตุรูปแบบใหม่โดยเขตสุขภาพที่ 9 ได้มีการทดลองมาแล้วในหลายพื้นที่ ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบูรณาการร่วมกับชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาอุบัติเหตุที่คร่าชีวิตคนไทยบนท้องถนนในช่วงเทศกาล โดยการตั้งศูนย์สร่างเมา ควบคู่กับด่านชุมชน
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 9 กล่าวว่า ที่เห็นผลคือ ที่อำเภอปราสาท จ.สุรินทร์ มีการตั้งศูนย์สร่างเมา ร่วมกับมาตรการด่านชุมชนแล้วพบว่า ทำให้มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตลดลงในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา และ อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ ได้ใช้รูปแบบดังกล่าวร่วมกับการตั้งด่านชุมชน ทำให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ลดลงอย่างชัดเจน และมีตัวอย่างอีกหลายอำเภอที่ใช้รูปแบบนี้แล้วดำเนินการได้ดี เช่น อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา อ.เฉลิมพระเกียรติ จ. บุรีรัมย์ อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ ฯ ศูนย์สร่างเมาจะเป็นศูนย์ที่ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ โดยตั้งอยู่ในด่านชุมชน หากพบผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง อาทิ ถ้าเข้าไปพูดคุยแล้วได้ กลิ่นเหล้า ก็จะให้ผู้ขับขี่ลงมาทดสอบการทรงตัวโดยเดินบนเส้นตรง ถ้าไม่ผ่านก็จะให้มาพักที่ศูนย์สร่างเมา โดยให้พักอย่างน้อย 1 ชั่วโมงหรือจนกว่าจะสร่าง และให้ดื่มน้ำสมุนไพรเพื่อสร่างเมา แล้วให้ทดสอบซ้ำ ถ้าผ่านก็สามารถให้ขับไปได้ หรือถ้าไม่สามารถขับต่อได้จริงๆ ก็จะให้พักอยู่ที่ศูนย์สร่างเมา หรือประสงค์จะกลับบ้านก็จะให้เจ้าหน้าที่ขับไปส่งที่บ้าน
ทั้งนี้ได้นำร่อง ให้เขตสุขภาพที่ 9 ได้แก่จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และสุรินทร์ ให้มีศูนย์สร่างเมา คู่กับด่านชุมชน เน้นมาตรการ ศูนย์ถนนอำเภอที่ทำงานเชื่อมโยงไปสู่ศูนย์ถนนท้องถิ่น ร่วมกับมาตรการอื่นๆที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายช่วงสงกรานต์ ปี 59 คือ อุบัติเหตุจากการเมาเท่ากับศูนย์ นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
ผลของการเมาจะทำให้ประสาทสัมผัสทุกอย่างช้าลง สมองตื้อ ตัดสินใจผิดพลาด ใจลอย ไม่มีสมาธิ เมื่อเกิดเหตุการณ์คับขัน จะแตะเบรกได้ช้ากว่าปกติ จากผลการศึกษาพบว่าคนเมาที่มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายลดลงมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากกว่าปกติ 2 เท่าตัว และผู้มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ความสามารถในการขับรถจะลดลง 15 เปอร์เซ็นต์ โอกาสเกิดอุบัติเหตุจะเพิ่มเป็น 6 เท่าตัว
- 11 views