นายกเทศมนตรีเมืองบึงยี่โถ เผย หลังรับถ่ายโอน สอ.จาก สธ. ปี 49 มุ่งพัฒนายกระดับตั้ง “ศูนย์การแพทย์และฟื้นฟู บึงยี่โถ” บริการผู้ป่วยนอกครบวงจร ช่วยลดแออัดใน รพ.ธัญบุรี จากผู้ป่วยขึ้นทะเบียน 6 พัน เป็น 6 หมื่นคน เหตุสามารถบริหารและหนุนงบได้เต็มที่ ชี้ 10 ปี หนุนงบแล้ว 30-40 ล้านบาท แถมไม่ขัด สตง. เพราะเป็นหน่วยงานในสังกัด หนุนเดินหน้าถ่ายโอน รพ.สต. ไปท้องถิ่นที่มีความพร้อมก่อน หลังเกือบทศวรรษไม่คืบ
นายรังสรรค์ นันทกาวงศ์ นายกเทศมนตรีเมืองบึงยี่โถ จ.ปทุมธานี กล่าวว่า สถานีอนามัย ต.บึงยี่โถ ได้มีการถ่ายโอนมายังเทศบาลเมืองบึงยี่โถตั้งแต่ปี 2550 ก่อนที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะมีการปรับเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งภายหลังการถ่ายโอน เทศบาลเมืองบึงยี่โถได้มีการพัฒนาสถานีอนามัยอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันได้ยกระดับเป็น “ศูนย์การแพทย์และฟื้นฟู บึงยี่โถ” แล้ว โดยมีการขยายก่อสร้างเพิ่มเติม 3 อาคาร มีแพทย์ ทันตแพทย์ นักกายภาพบำบัด และแพทย์แผนไทย ไว้คอยดูแลรักษาผู้ป่วย
นอกจากนี้กำลังจะเปิดสาขาแพทย์ทางเลือกเพิ่มเติม แต่ละวันมีผู้ป่วยเข้ารับบริการจำนวนมาก โดยมีประชาชนทั้งในเขตเทศบาลและพื้นที่ใกล้เคียงขึ้นทะเบียนผู้ป่วยที่ศูนย์การแพทย์ฯ แล้วจำนวนถึง 60,000 คน จากเดิมที่มีประชาชนขึ้นทะเบียนเพียง 6,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าประชากรในเขตเทศบาล ซึ่งอยู่ที่จำนวน 32,000 คน หรือมากกว่าเท่าตัว
นายรังสรรค์ กล่าวว่า การโอนย้ายสถานีอนามัยบึงยี่โถมายังเทศบาลเกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายให้มีการโอนย้ายสถานีอนามัยไปยังท้องถิ่น โดยเปิดให้มีพื้นที่นำร่องเฉพาะพื้นที่ซึ่งมีความพร้อมก่อน ซึ่งขณะนั้นเทศบาลเมืองบึงยี่โถมีความพร้อมที่จะรับการถ่ายโอน เพราะก่อนหน้านี้ได้มีการทำงานร่วมกันกับสถานีอนามัยบึงยี่โถอย่างต่อเนื่องด้วยดี และได้สนับสนุนการจัดซื้อยาและเครื่องมือแพทย์ต่างๆ อย่างยูนิตทำฟัน เป็นต้น ให้กับสถานีอนามัยเพื่อบริการประชาชนในพื้นที่
ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยนอกจากมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อเทศบาลแล้ว ยังมีความมั่นใจที่จะโอนย้ายออกจากกระทรวงสาธารณสุขเพื่อมาสังกัดเทศบาลเมืองบึงยี่โถ ด้วยเหตุนี้ทำให้การโอนย้ายจึงทำได้ง่าย อีกทั้งโรงพยาบาลธัญญบุรี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอธัญญบุรีมีความแออัดของผู้ป่วยที่เข้ารับบริการอย่างมาก จึงคิดว่าน่าจะมีการพัฒนาสถานีอนามัยเพื่อให้บริการผู้ป่วยนอกอย่างเต็มศักยภาพ นอกจากเป็นการแบ่งเบาภาระดูแลผู้ป่วยให้กับ รพ.ธัญญบุรี แล้ว ยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับชาวบ้านในพื้นที่ด้วย
หลังการโอนย้ายในช่วง 10 ปี ได้เห็นการพัฒนาของสถานีอนามัยบึงยี่โถอย่างมาก เนื่องจากเทศบาลบึงยี่โถสามารถสนับสนุนงบประมาณได้อย่างเต็มที่ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดเทศบาล ซึ่งนอกจากได้ยกระดับสถานีอนามัยเป็นศูนย์การแพทย์ฯ แล้ว ยังเพิ่มบริการสาขาต่างๆ เพื่อรองรับดูแลผู้ป่วยให้ครอบคลุม ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลอำเภอ โดยในส่วนของงบดำเนินงานศูนย์การแพทย์ฯ นั้น นอกจากได้รับงบประมาณส่วนหนึ่งที่ รพ.ธัญญบุรี จากงบเหมาจ่ายรายหัวในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า งบกองทุนสุขภาพตำบลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แล้ว เทศบาลเมืองบึงยี่โถได้สนับสนุนงบเพิ่มเติมอีกปีละหลายล้านบาท ทั้งนี้เพื่อให้เพียงพอต่อบริการ โดยรวมกับรายรับของศูนย์การแพทย์ฯ เอง
“งบประมาณที่เทศบาลบึงยี่โถได้ใส่ลงไปที่ศูนย์การแพทย์ฯ อย่างน้อยเป็นเม็ดเงิน 30-40 ล้านบาท ส่วนใหญ่หมดไปกับเครื่องมือแพทย์ อย่างอุปกรณ์ทำกายภาพบำบัดอย่างน้อย 10 ล้านบาทแล้ว รวมไปถึงการจ้างแพทย์มาดูแล ซึ่งขณะนี้มีแพทย์ประจำ 1 คน และอยู่ระหว่างการรับโอนย้ายมาเพิ่มเติมอีก 2 คน ไม่นับรวมทันตแพทย์ และพยาบาลอีก ขณะที่สถานีอนามัย หรือ รพ.สต.มีเพียงแค่พยาบาลวิชาชีพ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำเท่านั้น” นายรังสรรค์ กล่าวและว่า นอกจากนี้ยังมีการปรับสภาพแวดล้อมของศูนย์การแพทย์ฯ ที่ไม่ต่างจากคลินิกเอกชน ทั้งนี้เพื่อจูงใจการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่ รวมทั้งยังเป็นการอำนวยสะดวกให้กับชาวบ้านที่มารับบริการด้วย
นายรังสรรค์ กล่าวว่า การโอนย้ายสถานีอนามัย ทำให้ง่ายต่อท้องถิ่นในการพัฒนาสถานีอนามัยเพื่อดูแลสุขภาพของประชาชน เพราะนอกจากบริหารจัดการได้ง่ายกว่าแล้ว ยังมีความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของที่เป็นแรงจูงใจสำคัญในการสนับสนุนและพัฒนาสถานีอนามัย กรณีศูนย์การแพทย์และฟื้นฟูบึงยี่โถเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ซึ่งที่ผ่านมาได้มีท้องถิ่นร่วมพันแห่งเดินทางมาดูงานที่ศูนย์การแพทย์ฯ บึงยี่โถแห่งนี้ และอยากที่จะนำกลับไปพัฒนา แต่ติดที่สถานีอนามัยซึ่งถูกปรับเป็น รพ.สต. ทำให้การถ่ายโอนมีเงื่อนไขมากขึ้น ขณะเดียวกันด้าน สธ. ก็ไม่อยากถ่ายโอน เพราะกลัวสูญเสียอำนาจและงบประมาณ ซึ่งควรที่จะสนับสนุนหากทำให้ประชาชนสะดวกและเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีสถานีอนามัยที่ถ่ายโอนเพียง 40 แห่ง ในจำนวนนี้ 22 แห่ง เป็นการถ่ายโอนรอบแรกในช่วงเริ่มต้น ซึ่งรวมถึงศูนย์การแพทย์ฯ บึงยี่โถในปัจจุบัน
ต่อข้อซักถามว่า ที่ผ่านมาอุปสรรค์การโอนถ่าย รพ.สต.ยังท้องถิ่น ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่มั่นใจของเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยเอง นายรังสรรค์ กล่าวว่า ตรงนี้อยากบอกให้เขามั่นใจท้องถิ่น เพราะสามารถดูแลได้อยู่แล้ว และขอให้ดูที่บึงยี่โถเป็นตัวอย่าง เพราะหากรองบประมาณจาก สธ. คงไม่สามารถพัฒนาได้ขนาดนี้ ขณะเดียวกันการที่ท้องถิ่นจะเข้าไปสนับสนุนงบประมาณ รพ.สต.ก็ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มองว่าไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของท้องถิ่น อีกทั้ง รพ.สต.ก็มี สธ.เป็นหน่วยงานต้นสังกัดอยู่แล้ว การใส่งบประมาณลงไปจึงเป็นการทับซ้อนบทบาทของ สธ.
“หากโอนถ่าย รพ.สต.พร้อมกันทั้งประเทศ มองว่าอาจจะเป็นปัญหาและล้มเหลวเหมือนกับประเทศฟิลิปินส์ที่ประกาศถ่ายโอนสถานีอนามัยพร้อมกันทั้งหมด ดังนั้นการถ่ายโอนขณะนี้ควรพิจารณาจากความพร้อมของท้องถิ่นที่รับถ่ายโอน ซึ่งอาจดูจากผลการดำเนินงานกองทุนสุขภาพตำบลที่ดำเนินร่วมกับ สปสช. หากท้องถิ่นไหนทำได้ดีแสดงว่าเป็นท้องถิ่นที่ให้ความสำคัญต่องานสุขภาพ จึงควรให้ทำการถ่ายโอนไป ซึ่งจะยังประโยชน์ให้กับประชาชนมากกว่า” นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองบึงยี่โถ กล่าวและว่า สำหรับในส่วนเทศบาลเมืองบึงยี่โถ ยังอยู่ระหว่างการจัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคควบคู่ เพื่อลดภาวะการเจ็บป่วยให้กับชาวบ้านในพื้นที่
- 221 views