นักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มจธ. พัฒนา OLDSTER แอพพลิเคชั่นแชทยุคใหม่เพื่อสังคมออนไลน์ของผู้สูงอายุ เน้นรูปแบบที่เข้าใจง่าย ตัวอักษรใหญ่ เสริมฟังก์ชันรองรับผู้สูงอายุหากหลงทางหรือต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉิน
ทุกวันนี้ไม่ใช่แค่เด็กนักเรียน วัยรุ่น และวัยทำงานเท่านั้นที่ผูกชีวิตอยู่กับสังคมออนไลน์ (Social Network) อย่าง Line, Facebook และอีกหลายแอพพลิเคชั่น แต่ผู้สูงอายุ หรือกลุ่มคนที่อยู่ในช่วงวัยหลังเกษียณก็เป็นอีกกลุ่มคนที่หันมาใช้แอพพลิชั่นดังกล่าวเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารกัน ซึ่งเป็นช่องทางที่มีลูกเล่นในการสื่อสารแสดงอารมณ์และความรู้สึกได้มากกว่าการคุยโทรศัพท์
พัชรพล นิภา, สุชิต กุลบรรทมศีล และ ยุทธศิลป์ โกศล 3 นักศึกษาจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นกลุ่มคนยุคใหม่ที่เห็นความสำคัญของเทคโนโลยีดังกล่าวจึงได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า “OLDSTER” แอพพลิเคชั่นเครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อผู้สูงอายุ (Social Network Application for Elderly Persons) ขึ้นมา โดยมี อ.วิชัย เอี่ยมสินวัฒนา และ อ.อัจฉรา ธารอุไรกุล เป็นที่ปรึกษา
พัชรพล อธิบายว่า แอพพลิเคชั่นนี้ถูกออกแบบเพื่อผู้สูงอายุเป็นหลัก จึงง่ายต่อการใช้งาน มีรูปแบบที่ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน ตัวหนังสือเป็นแบบที่ง่ายต่อการอ่าน และขนาดไม่เล็กเกินไป
“เราเลือกพัฒนาแอพพลิเคชั่นนี้เพราะได้ฟังผู้สูงอายุที่บ้านบ่นอยู่บ่อยครั้งว่าแอพพลิเคชั่นที่ใช้แชทอยู่ตอนนี้มันมีรายละเอียดเยอะ บางอย่างก็ใช้ไม่เป็น แต่ที่เป็นปัญหามากที่สุดคือขนาดของตัวอักษรที่เล็กจนแทบจะอ่านไม่ออก ดังนั้น OLDSTER จึงถูกออกแบบมาโดยคำนึงถึงพฤติกรรมการใช้งานของผู้สูงอายุเป็นหลัก”
ด้าน สุชิต กล่าวเสริมว่า แอพพลิเคชั่น OLDSTER แบ่งเป็น 9 ฟังก์ชันการใช้งานหลักๆ คือ ข้อมูลส่วนตัว ที่ผู้ใช้งานต้องระบุข้อมูลตั้งแต่เริ่มสมัครสมาชิกโดยต้องระบุเบอร์โทรศัพท์ของเพื่อนหรือญาติเพื่อใช้ติดต่อในกรณีฉุกเฉิน กระดานข่าว ที่ผู้ใช้งานสามารถกดเข้าไปแสดงความคิดเห็น หรือโพสต์แบ่งปันเรื่องราวต่างๆ ได้ ข้อความส่วนตัว เป็นฟังก์ชันแชทระหว่าง 2 คน สามารถส่งสติกเกอร์ให้กันได้ ซึ่งสติกเกอร์ที่ใช้ในแอพพลิเคชั่นนี้ก็เกิดจากการออกแบบขึ้นเอง รวมถึงฟังก์ชันพื้นฐานอย่าง การแจ้งเตือน วิธีใช้งาน และข่าวสารในหมวดหมู่ต่างๆ ที่ในตอนนี้ยังต้องให้เว็บไซต์แอดมินเป็นผู้คัดเลือกและฟีดข่าวเข้ามายังแอพพลิเคชั่น
“พวกเราออกแบบสติกเกอร์ที่ใช้ในการแชทส่วนตัวขึ้นมาเอง โดยได้แรงบันดาลใจมาจากข้อความที่พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่มักจะส่งให้ลูกหลาน เช่น สวัสดีวันจันทร์ ดูแลตัวเอง กินผักเยอะๆ ซึ่งเป็นคำและรูปภาพที่เข้าใจง่าย นอกจากนั้นยังมีอีก 2 ฟังก์ชันที่เราเห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างมากกับผู้สูงอายุ คือฟังก์ชัน ช่วยฉันด้วย ออกแบบให้เป็นปุ่มกดสีแดงเพื่อขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน และฟังก์ชัน ฉันอยู่ไหน เพื่อใช้ในกรณีที่ผู้สูงอายุเกิดหลงทาง”
ส่วน ยุทธศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สูงอายุสามารถใช้ฟังก์ชันช่วยฉันด้วย หากเกิดอุบัติเหตุเมื่ออยู่บ้านคนเดียวสามารถกดปุ่มสีแดงขอความช่วยเหลือได้ โดยระบบจะส่งการแจ้งเตือนไปยังเบอร์โทรศัพท์ของญาติ หรือลูกหลานที่ระบุไว้ตั้งแต่ตอนสมัครสมาชิกแล้ว พร้อมทั้งแสดงตำแหน่งที่อยู่ของผู้ขอความช่วยเหลือด้วย ส่วนฟังก์ชันฉันอยู่ไหน ออกแบบมาเผื่อในกรณีที่ผู้สูงอายุเดินทางไปไหนคนเดียว แล้วอาจหลงทาง หรือเกิดอาการหลงลืมชั่วคราวซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุได้ ฟังก์ชันนี้ก็จะแสดงให้เห็นได้ว่าขณะนี้ผู้ใช้งานอยู่ที่ไหน และหากดูแผนที่แล้วก็ยังไม่ทราบว่าตนอยู่ที่ไหน ผู้ใช้งานก็สามารถกดปุ่ม “ฉันหลงทาง” เพื่อขอความช่วยเหลือได้เช่นเดียวกัน
“แอพพลิเคชั่น OLDSTER พัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และมีในส่วนของเว็บไซต์ผู้ดูแลระบบ ซึ่งยังต้องพัฒนาในส่วนของเว็บไซต์แอดมินให้เป็นระบบอัตโนมัติก่อนจึงจะสามารถลงใน Play Store ให้ดาวน์โหลดได้ต่อไป” พัชรพล กล่าว
- 65 views