นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศปี 59 ชี้มีความรู้และความเชี่ยวชาญสูงด้านโรคติดเชื้อ โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส มีผลการศึกษาวิจัยเป็นจำนวนมาก เช่น โรคเอดส์ โรคหัดเยอรมัน โรคตับอักเสบ โรคพิษสุนัขบ้า ไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบแจแปนีสเอ็นเซฟาไลติส ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ไข้หวัดนกและซาร์ส พร้อมปาฐกถาเกียรติยศ “บทบาทของนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้ออุบัติใหม่/อุบัติซ้ำ” 21 มี.ค.นี้
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ
เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2559 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสถาปนากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.สถาพร วงษ์เจริญ ประธานกรรมการมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เปิดเผยผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ประจำปี 2559 ว่า มูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้คัดเลือกผู้สร้างหรือริเริ่มงาน และอุทิศตนเพื่อประโยชน์ต่อวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยมีผลงานที่มีประโยชน์ต่อการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทยอันเป็นที่ประจักษ์ และเป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นแบบอย่างให้แก่บุคคลในวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์และบุคคลทั่วไป เพื่อรับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ
และผู้ที่ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ประจำปี พ.ศ.2559 คือ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญเป็นอย่างสูงด้านโรคติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขของประเทศไทย โดยมีผลการศึกษาวิจัยเป็นจำนวนมาก อาทิ โรคเอดส์ นพ.ประเสริฐ เป็นผู้ริเริ่มและดำเนินการศึกษาวิจัยโรคเอดส์ทางห้องปฏิบัติการกว่า 20 ปี ทำให้เกิดความร่วมมือกับนานาชาติในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคเอดส์ นำไปสู่การวิจัยทางคลินิกระยะที่ 1 และระยะที่ 2 นับเป็นการพัฒนาการทดสอบวัคซีนป้องกันโรคเอดส์ในประเทศไทยที่ชัดเจน ผลจากการวิจัยยังทำให้ทราบข้อมูลทางระบาดวิทยาซึ่งสามารถนำไปวางแผนป้องกันและควบคุมโรคได้อย่างถูกต้อง
โรคหัดเยอรมัน นพ.ประเสริฐ ได้ศึกษาวิจัยจนทำให้ทราบสาเหตุสำคัญของความพิการแต่กำเนิดของทารกภายหลังแม่ติดเชื้อหัดเยอรมัน การวิจัยยังได้พัฒนาการชันสูตรทางห้องปฏิบัติการและขยายไปทั่วประเทศ นอกจากนั้นยังได้ทำการทดสอบประสิทธิผลและฤทธิ์ข้างเคียงของวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน และผลักดันให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน เป็นโครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่สามารถลดอัตราการเกิดทารกพิการได้อย่างมาก
โรคตาแดงชนิดใหม่ เป็นกลุ่มแรกที่ศึกษาวิจัยจนทราบว่าโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสเอ็นเทอโรไวรัส 70 ซึ่งเป็นไวรัสชนิดใหม่ ที่อาจทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาตเฉพาะที่ และมีการระบาดอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีระยะเวลาฟักตัวเพียง 24 ชั่วโมง ผลการศึกษาทำให้ทราบวิธีป้องกัน รักษา และควบคุมโรค
โรคตับอักเสบ นพ.ประเสริฐ ร่วมศึกษาวิจัยไวรัสตับอักเสบทางห้องปฏิบัติการ จนส่งผลให้มีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอและบี ใช้ในประเทศไทย และพัฒนาวิธีทดสอบเพื่อวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบบีด้วยวิธีการที่ไม่ยุ่งยาก สามารถถ่ายทอดไปสู่ห้องปฏิบัติการทั่วไปได้ และได้เสนอให้รัฐบาลสนับสนุนการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบแบบปูพรม ทำให้สามารถลดอุบัติการณ์การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งตับ
โรคพิษสุนัขบ้า นพ.ประเสริฐ เป็นผู้วิจัยโรคพิษสุนัขบ้ามากว่า 40 ปี ทำให้สามารถพัฒนาการชันสูตรโรคได้อย่างแม่นยำ และพัฒนาขีดความสามารถห้องชันสูตรในส่วนภูมิภาค ได้ริเริ่มทดสอบวัคซีนชนิดใหม่ๆ จนค้นพบวัคซีนที่มีคุณภาพสูง มีผลข้างเคียงน้อย จึงส่งเสริมให้ใช้วัคซีนดังกล่าวอย่างแพร่หลายและผลักดันให้มีการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าเป็นแผนระดับชาติ
นอกจากนั้นยังได้ศึกษาวิจัยโรคอื่นๆ เช่น ไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบแจแปนีสเอ็นเซฟาไลติส (Japanese encephalitis viral disease) ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ไข้หวัดนกและซาร์ส อีกทั้งได้แต่งหนังสือและตำราจำนวนมาก เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ อันเป็นประโยชน์แก่บุคคลต่างๆทั้งในและนอกวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์
นพ.สถาพร กล่าวต่ออีกว่า จากการเป็นผู้ริเริ่มงานและอุทิศตนด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยเฉพาะผลงานศึกษาวิจัยโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส และได้มีนำมาใช้ในการควบคุมและป้องกันโรคอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศเป็นอย่างยิ่ง เป็นแบบอย่างของนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ควรค่าแก่การยกย่อง ทำให้ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ได้รับคัดเลือกให้เป็นนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ประจำปี 2559 ของมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.ประเสริฐ จะเป็นองค์ปาฐกในการบรรยายปาฐกถาเกียรติยศ ศ.นพ.เฉลิม พรมมาส เรื่อง “บทบาทของนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้ออุบัติใหม่/อุบัติซ้ำ” ในงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ครั้งที่ 24 ในวันที่ 21 มีนาคม 2559 ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม ชั้น 2 อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม อิมแพ็ค เมืองทองธานี
- 66 views