ขายวัสดุจัดฟันเถื่อนเกลื่อนโลกออนไลน์ ทันตแพทย์เตือนประชาชนอย่าตกเป็นเหยื่อ เกิดปัญหาฟันเคลื่อน ฟันตาย ติดเชื้อในช่องปาก เส้นเลือดดำในฟันแตก สูญเสียฟันดีๆ โดยไม่จำเป็น แนะประชาชนต้องตระหนัก อย่าหลงเชื่อ ล่าสุด สคบ.ยู่ระหว่างจัดทำประกาศให้การจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์จัดฟัน ถือเป็นการบริการที่อันตราย
ทพ.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล กรรมการทันตแพทยสภา และอดีตหัวหน้าภาควิชาทันตกรรมชุมชน คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาจะพบปัญหาการจัดฟันเถื่อนโดยไม่ใช่ทันตแพทย์จำนวนมาก ล่าสุดพบว่ามีการจำหน่ายอุปกรณ์จัดฟันในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะการขายผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งไม่ใช่แค่ยางจัดฟันสีสันต่างๆ แต่ยังมีวัสดุอุปกรณ์สำหรับการทำรีเทนเนอร์ มีผง และถาดพิมพ์ พร้อมสอนวิธีทำให้อีก หนำซ้ำยังส่งตรงถึงบ้าน ถือเป็นการตลาดของผู้ขายที่เลี่ยงกฎหมาย เนื่องจากเดิมจะเปิดเป็นห้องแถว รับจัดฟันเถื่อน แต่เมื่อถูกจับก็เลี่ยงไปขายออนไลน์แทน เพราะตามตัวยาก ไม่มีหน้าร้าน ลูกค้าซื้อเครื่องมือและไปทำเอง ดังนั้น ถึงแม้ถูกสั่งปิดเว็บไซต์ก็สามารถไปเปิดใหม่ได้อีก ปัญหาคือ ลูกค้าที่ซื้อก็ไม่ใส่ใจถึงผลกระทบ ทั้งๆ ที่โอกาสสิ้นเปลือง และใช้ไม่ได้มีสูง และยังไม่นับกับผลกระทบต่อช่องปากอีก
ทพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า ผลกระทบแรกๆ ที่เห็นคือ รีเทนเนอร์ที่ได้มีโอกาสไม่เข้ากับช่องปาก และหากฝืนใส่ก็อาจทำให้ช่องปากได้รับบาดเจ็บ เกิดการผลักฟันให้เคลื่อนจากตำแหน่งที่ควรเป็น จนเกิดปัญหาฟันตาย ซึ่งเป็นอาการของฟันเสีย เส้นเลือดดำในฟันแตก จนต้องสูญเสียฟันดีๆ โดยไม่จำเป็น ขณะที่ยางจัดฟัน รวมทั้งเส้นลวด หรือท่อสำหรับครอบฟันที่มีสีต่างๆ หากใส่ไปนานๆ สีจะจางลง หมายความว่าสีอาจหลุดเข้าไปสู่ร่างกายจากการกลืนเข้าไป ซึ่งไม่มีทางทราบว่าสีดังกล่าวเป็นอันตรายหรือไม่ อาจเป็นสีในกลุ่มโลหะหนักก็เป็นได้
จึงขอเตือนผู้บริโภคให้ระวัง อย่าหลงเชื่อซื้ออุปกรณ์เหล่านี้ เพราะราคาถูกกว่าไปทำกับทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากเสี่ยงเสียเงินฟรี และอาจรับผลกระทบต่างๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) อยู่ระหว่างจัดทำประกาศให้การจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์จัดฟัน ถือเป็นการบริการที่อันตราย ซึ่งหากมีการดำเนินการได้จริงจะเป็นเรื่องดีมาก
ด้าน ทพ.อดิเรก ศรีวัฒนาวงษา นายกทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การขายวัสดุอุปกรณ์จัดฟันให้ลูกค้าไปทำการจัดฟันเองที่บ้าน ถึงจะไม่ได้ทำด้วยตัวเองก็ถือว่าเข้าข่ายผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม และผิดกรณีไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรม พ.ศ.2537 มีโทษปรับ 3 หมื่นบาท และจำคุก 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตาม การจะจับกุมผู้กระทำผิดคงทำไม่ได้หมด หากสั่งปิดเว็บไซต์ ก็ไปเปิดเว็บไซต์ใหม่ได้อีก สิ่งสำคัญอยู่ที่ประชาชนต้องตระหนักและหวาดกลัวการกระทำใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ แต่ดูเหมือนคนจะไม่กลัว และชอบทำอะไรที่ก่อให้เกิดอันตรายตลอด ซึ่งเป็นปัญหามาก
- 26 views