รพ.สต.แจง 3 ข้อเกณฑ์จ่ายค่าตอบแทน สธ.ไม่เป็นธรรม รพ.สต.ไม่เข้าเกณฑ์พื้นที่กันดาร ทั้งที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและกันดารมากกว่า รพช. การแบ่งช่วงอายุงาน การกำหนดค่าภาระงานเหลื่อมล้ำสูง ชี้ไม่ต้องการสร้างความแตกแยกระหว่างวิชาชีพ แต่ สธ.ต้องมีธรรมาภิบาล แพทย์-หมอฟัน ค่าตอบแทนมากกว่าเงินเดือน แนะ 3 ข้อแก้ปัญหา พร้อมตั้งคณะทำงานปรับเกณฑ์จ่ายค่าตอบแทนใหม่
ภายหลังจากที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หลายแห่งทั่วประเทศขึ้นป้ายบริเวณหน้า รพ.สต. ข้อความ “วอน ! รัฐบาลแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพดานเงินเดือนข้าราชการพลเรือนและค่าตอบแทนบุคลากรด้านสาธารณสุข” และ “วอนผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุข ที่มีความต่างระหว่างวิชาชีพเป็น 100 เท่า” ซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 1 มี.ค.นั้น
นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) หรือ ชวส.และผู้ประสานงานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ผอ.รพ.สต.) ประเทศไทย กล่าวว่า รพ.สต.ทั่วประเทศมีประมาณ 1 หมื่นแห่ง ขณะนี้มีหลายแห่งเริ่มขึ้นป้ายหน้า รพ.สต.แล้ว และจะขึ้นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นการแสดงการเรียกร้องแบบสันติวิธี เพื่อต้องการให้ผู้บริหารรับรู้รับทราบปัญหาความเหลื่อมล้ำดังกล่าว
ทั้งนี้ ค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขเป็นงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรมาให้ สธ.ปีละ 3,000 ล้านบาท เป็นค่าตอบแทนให้กับบุคลากรสาธารณสุข เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ โดยเฉพาะบุคลากรที่อยู่ในหน่วยบริการที่เป็นพื้นที่ที่มีความกันดาร เสี่ยงภัยและประชากรน้อย แต่พบว่าการจัดสรรค่าตอบแทนดังกล่าวมีความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพเป็นอย่างมาก โดยมีความต่างกันถึง 100 เท่า
นายริซกี กล่าวว่า ขณะเดียวกัน หลักเกณฑ์ในการพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวก็มีความไม่เป็นธรรม 3 ประเด็นดังนี้
1.การนิยามพื้นที่กันดาร ในการกำหนดหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร หลักเกณฑ์ของ สธ.กำหนดหน่วยบริการเฉพาะโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ทั้งที่ รพ.สต.ตั้งอยู่ในระดับตำบลมีความกันดารและห่างไกลกว่า
และ รพ.สต.ส่วนใหญ่อยู่ตามตำบลหมู่บ้าน บางพื้นที่เป็นดงดอย ป่าเขา หรือชายแดน ทั้งนี้ในเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาความกันดารของ รพช.จะดูจากความเจริญ เช่น มีธนาคาร ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ซึ่งหากเทียบใน รพ.สต.ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลหมู่บ้านส่วนใหญ่จะไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย แต่เหตุใด รพ.สต.จึงไม่จัดอยู่ในพื้นที่กันดาร
2.เรื่องการแบ่งช่วงอายุราชการ/อายุการทำงานบุคลากรใน รพ.สต.ถูกกำหนดให้มีเพียง 2 ระดับ (1-3 ปี กับ 4 ปีขึ้นไป) แต่หลายวิชาชีพกลับแบ่งเป็น 3 ระดับ (1-3 ปี, 4-10 ปี และ 10 ปีขึ้นไป) ส่งผลให้ค่าตอบแทนแตกต่างกันด้วย เช่น เจ้าพนักงานสาธารณสุข อายุการทำงาน 1-3 ปี ได้รับค่าตอบแทน 600 บาท อายุการทำงาน 4 ปีขึ้นไป ได้รับ 900 บาท และได้รับในระดับนี้ทุกคน แม้จะอยู่ในพื้นที่ปกติหรือกันดารก็ตาม
แต่หากเทียบกับวิชาชีพอื่น เช่น แพทย์ ทันต์แพทย์ในพื้นที่ปกติ ที่มีอายุงาน 1-3 ปี ได้รับค่าตอบแทน 10,000 บาท อายุงาน 4-10 ปี ได้รับ 12,000 บาท และอายุงาน 10 ปีขึ้นไป ได้รับ 15,000 บาท และยิ่งทำงานในพื้นที่กันดาร ก็จะได้รับค่าตอบแทนสูงสุดถึง 60,000 บาท ซึ่งกลับกลายเป็นว่า มีค่าตอบแทนที่มากกว่าเงินเดือนเสียอีก ทั้งที่โดยหลักแล้วทุกวิชาชีพควรจะมีเงินเดือนเป็นรายได้หลักในการดำรงชีพ
3.การกำหนดค่า activity based มีความหลากหลาย เหลื่อมล้ำสูง ทั้งนี้การให้ค่าตอบแทนตามภาระงานหรือพีฟอร์พี ในโรงพยาบาลพบว่ามีหลักเกณฑ์ต่างกัน ค่ากิจกรรมต่างกันในแต่ละวิชาชีพ เช่น บางวิชาชีพ คิด activity base ยิบย่อย ทั้ง FTE และ pop ratio มาคำนวณเป็นค่างาน/ภาระงาน แต่ รพ.สต.กลับใช้แค่ pop ratio เท่านั้นมาคำนวณค่าตอบแทน และค่า activity based บางวิชาชีพมีค่าเท่ากับ 1 หรือ 2 แต่ในหลายๆ วิชาชีพกลับให้ค่าภาระงานด้วย 0.1 หรือ 0.05 เท่านั้น ทำให้หากมีปริมาณภาระงานที่เท่ากับคือ 1,000 ชิ้น บางวิชาชีพจะได้ค่าตอบแทนแค่ 50-100 แต้ม แต่บางวิชาชีพกลับได้ 1,000-2,000 แต้ม ในภาระงานที่เท่ากัน เมื่อนำไปคูณค่าตอบแทน P4P จึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเป็นอย่างมาก
“การที่หมออนามัยเรียกร้อง ไม่ได้ต้องการสร้างความแตกแยกระหว่างวิชาชีพ แต่อยากให้กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมี บุคลากรมากกว่า 20 วิชาชีพ ควรใช้หลักการบริหารจัดการที่ดี มีธรรมาภิบาล ควรใช้หลักเกณฑ์ที่เป็นธรรมและมีความเหลื่อมล้ำในเรื่องค่าตอบแทนระหว่างวิชาชีพให้น้อยลง และค่าตอบแทนโดยหลักการไม่ควรได้มากกว่าเงินเดือน แต่ปัจจุบันบางวิชาชีพได้ค่าตอบแทนหลักหมื่นสูงกว่าเงินเดือนหลายเท่า ในขณะที่หมออนามัยส่วนใหญ่ทำงานมานานจนเกือบเกษียณยังได้แค่หลักร้อยบาทเท่านั้น” นายริซกีกล่าว
นายริซกี กล่าวอีกว่า ข้อเรียกร้องในการแก้ปัญหาเรื่องค่าตอบแทนมีความเหลื่อมล้ำ สธ.ควรดำเนินการแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์ใน 3 ประเด็นเป็นเบื้องต้น ได้แก่
1.ปรับปรุงนิยามหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร ให้รวมถึง รพ.สต.และครอบคลุมทุกวิชาชีพด้วย
2.เพิ่มอายุการทำงานให้มี 3 ระดับเหมือนกันทุกวิชาชีพ
และ 3.การคิดค่าภาระงานในแต่ละวิชาชีพควรมีความเป็นธรรมและใช้หลักเกณฑ์เดียวกันในการคิด
ทั้งนี้ สธ.ควรตั้งคณะทำงานในการพิจารณาปรับหลักเกณฑ์จ่ายค่าตอบแทนให้มีความเป็นธรรม ลดเหลื่อมล้ำ โดยให้มีผู้แทนจากวิชาชีพต่างๆ เข้าร่วมด้วย
นายริซกี กล่าวว่า การเรียกร้องให้ลดความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุข เป็นหนึ่งใน 3 ข้อเรียกร้องสู่การปฏิรูป รพ.สต.หมื่นแห่ง หมื่นล้าน หมื่นคน ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาความขาดแคลน คน เงิน ของทั้งระบบ และยังเป็นการส่งเสริมให้มีการส่งเสริม การสร้างนำซ่อม โดยรัฐลงทุนให้ รพ.สต.สามารถบริหารจัดการด้วยตนเอง มีอัตรากำลังที่ครบ มีงบประมาณและค่าตอบแทนที่เหมาะสม และมีการสนับสนุน รพ.สต.ที่เสี่ยงภัย กันดารและขาดแคลน อันจะส่งผลดีต่อระบบบริการปฐมภูมิซึ่งเป็นด่านหน้า ทำให้เกิดการเน้นการสร้างเสริมสุขภาพ การดูแลตนเองในหมู่บ้านตำบล
“แต่ปัจจุบันรัฐกลับเน้นการซ่อมสุขภาพมากกว่า ตัวชี้วัดที่เห็นได้ชัดเจนคือ ความเจ็บป่วยของประชาชนในประเทศไม่ได้ลดลงเลย โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพมีอัตราป่วยเพิ่มสูงขึ้นใน 10 อันดับแรก คือ เบาหวาน ความดันโลหิต หัวใจ ไขมันอุดตัน เป็นต้น ส่งผลให้รัฐต้องไปสิ้นเปลืองงบประมาณเป็นจำนวนมาก” นายริซกีกล่าว
- 63 views