รพ.สต.ทั่วประเทศ ดีเดย์ 1 มี.ค. พร้อมติดป้ายหน้า รพ.สต. กระตุ้นผู้บริหารแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุข หลังขับเคลื่อนต่อเนื่องแต่ไม่ได้รับการตอบรับ เผยเหลื่อมล้ำทั้งในระบบสาธารณสุข ค่าตอบแทนห่างจากแพทย์ร้อยเท่า ซ้ำเหลื่อมล้ำ ขรก.สังกัดหน่วยงานอื่น พร้อมย้ำเป็นหัวหอกระบบสาธารณสุข ช่วย สธ.ดำเนินนโยบายสำเร็จ
นายคำผล วงศ์สุริยา ประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ผอ.รพ.สต.) ภาคอีสาน และรองประธานชมรม ผอ.รพ.สต. (ประเทศไทย) กล่าวถึงกรณี รพ.สต.ทั่วประเทศ ได้ร่วมกันรณรงค์ติดป้ายไวนิลหน้า รพ.สต.เพื่อขอให้ผู้บริหารแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนวิชาชีพว่า เงินเดือนและค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขซึ่งทำหน้าที่อยู่ใน รพ.สต. เป็นปัญหามานานแล้ว และมีความเหลื่อมล้ำกันอย่างมาก ทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับวิชาชีพต่างๆ ในระบบสาธารณสุขจะมีความแตกต่างกันอย่างมาก หรือแม้แต่เปรียบเทียบสิทธิและความก้าวหน้ากับข้าราชการในพื้นที่ที่สังกัดกระทรวงอื่นๆ ที่อยู่ในตำบลเดียวกันก็ตาม อย่างเช่น ครู ท้องถิ่น ทั้งที่ต้องทำหน้าที่ดูแลสุขภาพประชาชนทั้งตำบล สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันในระบบ ทั้งที่ต่างทำงานให้กับภาครัฐเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ที่ผ่านมาทางชมรม ผอ.รพ.สต. ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการยื่นหนังสือต่อกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) โดยมีการทวงถามคำตอบและความคืบหน้าอย่างเป็นระยะ แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ จึงเห็นว่าควรมีการขึ้นป้ายหน้า รพ.สต. ไม่เพียงแต่เพื่อขอความเป็นธรรมจากความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นนี้ แต่ยังต้องการสะท้อนไปยังผู้บริหารให้รับทราบถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นนี้
“การขึ้นป้ายขอความเป็นธรรมของ รพ.สต.ครั้งนี้ เพื่อให้ผู้บริหาร สธ.และ ก.พ.รับรู้ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนวิชาชีพนี้ แม้ว่าพวกเราจะเป็นเพียงแค่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำงานฐานล่างสุดของปิรามิด ซึ่งเราไม่ได้เรียกร้องค่าตอบแทนที่ต้องเท่าเทียมกัน แต่ต้องเป็นธรรม ไม่ใช่แตกต่างกันมาก อย่างที่ห่างกันเป็นร้อยเท่าทั้งที่ทำงานอยู่ในพื้นที่เดียวกัน” นายคำผล กล่าวและว่า แม้แต่ รพ.สต.ในอำเภอเดียวกันกับโรงพยาบาลชุมชน แต่กลับไม่ได้ถูกกำหนดเป็นพื้นที่พิเศษ พื้นที่กันดาร ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างหน่วยงาน ระหว่างวิชาชีพอีก ปัญหาเหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไข และอยากให้ผู้บริหารหันมาดูแลบุคลากรในทุกวิชาชีพของตนเอง
ด้าน นายวีระพงษ์ ชัยประเสริฐสุข ผู้อำนวยการ รพ.สต.กุดจับ อ.เมือง จ.อุดรธานี กล่าวว่า รพ.สต.กุดจับ ได้เข้าร่วมการติดป้ายเพื่อร้องขอความเป็นธรรมค่าตอบแทนให้กับ จนท.รพ.สต. ครั้งนี้ ซึ่งความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนต้องบอกว่ามีมานานแล้ว โดยเราเป็นระดับต่ำสุดของวิชาชีพในกระทรวงสาธารณสุขและไม่ได้รับการดูแล ทั้งที่ภาระงานหนักกว่าวิชาชีพอื่นๆ แม้พวกเราจะเป็นรากหญ้าในระบบสาธารณสุข แต่ต้องบอกว่าความสำเร็จของกระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราการตายแม่และเด็ก การสร้างสุขลักษณะให้กับชาวบ้านเพื่อป้องกันโรค และงานป้องกันโรคโปลิโอ รวมถึงงานอื่นๆ ที่สำเร็จได้เพราะพวกเราเป็นคนทำ โดยรับนโยบายมาจากแพทย์ มาจากกระทรวงสาธารณสุข แต่กลับมีความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับบางวิชาชีพที่ค่าตอบแทนสูงสุดจะสูงถึง 60,000 บาท ขณะที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับเจ้าพนักงานต่ำสุดอยู่ที่ 600 บาท เท่านั้น แม้จะอยู่ในพื้นที่กันดารขนาดไหนก็ตาม
“การออกมาร่วมติดป้ายหน้า รพ.สต.เพื่อต้องการผลักดันให้มีการแก้ความเหลื่อมล้ำตรงนี้ เพราะเมื่อเปรียบเทียบการทำงาน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็เหมือนกับหัวหอกของระบบสาธารณสุข ดังนั้นไม่เพียงแต่ค่าตอบแทน แต่ต้องแก้ไขทั้งในส่วนของเงินเดือนและความก้าวหน้าวิชาชีพด้วย” นายวีระพงษ์ กล่าวและว่า ที่ผ่านมาเราเรียกร้องให้แก้ไขความเหลื่อมล้ำมาเป็นเวลา 100 ปีแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ จึงต้องร่วมออกมาเคลื่อนไหวดังกล่าว
ต่อข้อซักถามว่า คาดหวังว่าจะได้รับการตอบรับแก้ไขความเหลื่อมล้ำมากน้อยแค่ไหน นายวีระพงษ์ กล่าวว่า คาดว่าน่าจะมีการตอบรับ 70-80% แต่ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ในการเคลื่อนไหวเราผิดหวังกับการตอบรับของผู้บริหารมามาก และหวังว่าคงจะได้รับการแก้ไขในผู้บริหารชุดนี้ ซึ่งมีความจริงใจที่จะแก้ปัญหาและเริ่มส่งสัญญานตอบรับบ้างแล้ว แต่การแสดงออกครั้งนี้ก็เพื่อแสดงสัญลักษณ์ให้ผู้บริหารรับทราบ ให้รู้ว่ามีเราอยู่ และหลังจากนี้คงมีแนวทางเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนต่อไป
นายประดิษฐ์ ขัติยเนตร ประธานชมรมนักวิชาการสาธารณสุข(ประเทศไทย) หรือ ชวส. กล่าวว่า ชวส.เพียงแค่ต้องการให้เกิดการแก้ปัญหาค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขอย่างเป็นระบบ ตามที่หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องท้วงติงมา เช่นสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม ก.พ. ฯลฯ ว่าหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขมีความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม และควรเร่งแก้ไขต่อไป
“บุคลากรกระทรวงสาธารณสุขมีมากกว่า 20 วิชาชีพ ซึ่งเรื่องนี้ล้วนกระทบขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานทั้งสิ้น เนื่องจากมีความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพมากเกินไป จึงควรหาแนวทางปรับปรุงหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนฯ แก้ไขนิยามความกันดารให้ครอบคลุม รพ.สต.ปรับค่า activity base ในการคำนวณ P4P ให้เหมาะสม จะได้ไม่เกิดปัญหาเช่นนี้อีก” นายประดิษฐ์กล่าว
นายสุรัตน์ กัณหา รองประธานชมรมนักวิชาการสาธารณสุขภาคอีสาน และ ผอ.รพ.สต.หนองกาลึม จ.อุดรธานี กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ร่วมเรียกร้องขอให้ผู้บริหารแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำมาโดยตลอด ทั้งค่าตอบแทน การเลื่อนระดับเงินเดือน รวมไปถึงความก้าวหน้าในวิชาชีพ เพราะเราไม่เพียงแต่เหลื่อมล้ำในระบบวิชาชีพสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังเหลื่อมล้ำเมื่อเปรียบเทียบกับข้าราชการในสังกัดอื่นๆ ทั้งที่เราเป็นข้าราชการเหมือนกัน จึงไม่ควรเกิดความเหลื่อมล้ำที่แตกต่างกันมาก ที่ผ่านมาจึงได้ร่วมกันขับเคลื่อนทั้งในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศมาโดยตลอด ส่วนความคาดหวังจากการเคลื่อนไหวครั้งนี้มองว่าน่าจะได้รับการตอบรับที่ดี หากเรารวมพลังอย่างเข้มแข็ง อย่างไรก็ตามอยากฝากไปถึงผู้บริหารว่า เราไม่ได้เรียกร้องขอเพิ่มสิทธิใดๆ ที่เกินเลยเพียงแต่ขอให้แก้ไขความเหลื่อมล้ำเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งระบบเท่านั้น
- 34 views