อาจารย์แพทย์ มศว.ติง ข้อตกลงความร่วมมือเขตสุขภาพ สธ.-โรงเรียนแพทย์ ยังไม่มีความชัดเจน แนะทำเรื่องง่ายๆ เช่น รีเฟอร์ผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงเรียนแพทย์ให้ได้ก่อน
นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) เปิดเผยว่า การลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ 20 โรงเรียนแพทย์ จาก 19 มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาระบบบริการ การส่งต่อ ผลิตบุคลากร และการวิจัย ตลอดจนจับคู่โรงเรียนแพทย์กับเขตสุขภาพเมื่อเร็วๆ นี้ ถือเป็นเรื่องที่น่าดีใจ อย่างไรก็ตาม อยากให้มีอะไรที่เป็นรูปธรรมมากกว่านี้
“มันไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรม หรือถ้ามีอะไรที่เป็นรูปธรรม วัตถุประสงค์ที่แท้จริงคืออะไรกันแน่ ถ้ามาทำ Super Tertiary Care เนี่ย มันใช่ความต้องการของระบบที่ควรจะเป็นหรือเปล่า” นพ.สุธีร์ กล่าว
นพ.สุธีร์ ยกตัวอย่างปัญหา เช่น การส่งต่อผู้ป่วยในปัจจุบัน เวลาโรงพยาบาลจะส่งต่อให้โรงเรียนแพทย์ โรงเรียนแพทย์ก็ไม่รับ refer เช่น รพ.นครนายก ส่งคนไข้ผ่านศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ ไปส่งโรงพยาบาลต่างๆ ในกรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่คนไข้อาจอยู่ห่างไม่ถึง 5 กิโลเมตรจากศูนย์การแพทย์ฯ ญาติคนไข้แทนที่จะไปเยี่ยมใกล้ๆ บ้านก็ต้องไปวิ่งเข้า กทม. เกิดค่าใช้จ่ายที่เป็น non medical ทั้งค่าเดินทาง ค่ากินอยู่ ซึ่งรัฐไม่ได้จ่ายแต่คนไข้ต้องจ่าย และจริงๆ แล้วสามารถปลดล็อกได้ไม่ยาก และไม่ต้องลงทุนอะไรมากมายเลย
“ถ้าจะทำจริงๆ เอาของที่มีทุกวันนี้ refer แล้วช่วยรับได้มั้ย ตอนนี้ที่เขาไม่รับ refer ก็คือถ้าเป็นโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ส่งกันเอง สมมุติเป็นไส้ติ่งอักเสบ ค่าใช้จ่ายไม่ถึงหมื่น แต่ถ้าส่งมาโรงเรียนแพทย์ ค่าใช้จ่ายหมื่นบาทขึ้นไป เรื่องอะไรจะส่งมา ถ้า รมว.สาธารณสุขจะทำตรงนี้นะ ไม่ต้องลงทุนมากเลย มาเซ็ตระบบ โรงเรียนแพทย์ก็อาจจะอะลุ่มอล่วยให้กับคนไข้ในพื้นที่ ส่วนทางสธ.ก็อาจต้องยอมจ่ายเพิ่มเติมบ้าง เช่นเดียวกับ สปสช.ที่ต้องรับผิดชอบด้วย เพราะดูแลเรื่องการจ่ายเงิน เรื่องนี้ไม่ได้ต้องการ facility ที่มันไฮโซอะไรเลย แล้วจะไปทำอะไรที่มัน super ขึ้นไป ถามว่าจะทำไปเพื่ออะไร มันนึกไม่ออกจริงๆ” นพ.สุธีร์ กล่าว
นพ.สุธีร์ กล่าวอีกว่า นอกจากในส่วนของการบริการแล้ว ในบทบาทของการผลิตบุคลากร โรงเรียนแพทย์ และ สธ. ก็ควรมีความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม เช่น อาจจะให้โรงเรียนแพทย์ในแต่ละเขตสุขภาพ หารือกับผู้ตรวจราชการกระทรวงว่า จะพัฒนาบุคลากรให้ตอบโจทย์ในพื้นที่นั้นๆ อย่างไร ทั้งเรื่องงบประมาณ จำนวนบุคลากร และความเชี่ยวชาญของบุคลากรที่แต่ละเขตสุขภาพต้องการ
“ทุกวันนี้ออกนอกระบบ มหาวิทยาลัยต้องผลิตแพทย์ให้มากเพื่อให้ได้เงินรายหัวเยอะ แต่ถามว่าผลิตไปแล้วตอบสนองให้ใคร ก็ไม่มีคำตอบ พอเด็กจบออกไปก็ไปทำเกี่ยวกับการเสริมความงาม ซึ่งก็เหมือนกับสูญเปล่า ผมเป็นอาจารย์แพทย์เพื่อสร้างแพทย์ให้กับประเทศ แต่กลายเป็นว่าทั้งระบบมันไม่สามารถเอื้อได้ ผมต้องสร้างหมอให้ศูนย์ผิวหนัง ศูนย์ความงาม สิ่งต่างๆ ที่เราทำไป มันก็ไปตกกับสิ่งที่ไม่ได้เกิดคุณค่าสูงสุดต่อสังคม” นพ.สุธีร์ กล่าว
“ถ้าผู้ตรวจลงมาเล่นว่าแพทย์ตำแหน่งนี้ๆ ขาด แล้วต้องการสเปคแบบนี้นะ สมมติ ในพื้นที่เขตจังหวัดอุบลราชธานีมีโรคธาลัสซีเมียเยอะ อาจารย์ก็สอนเน้นหนักธาลัสซีเมียหน่อย หรือถ้าเป็นเขตภาคตะวันตก มีเท้าช้าง มาลาเรีย ก็ต้องผลิตแพทย์ที่เน้นโรคพวกนี้ เป็นการผลิตแพทย์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ ถ้าคุยกันได้ผลก็จะออกมาดี แล้วที่บ่นว่าโรงเรียนแพทย์ผลิตกันออกมาไม่รู้ทิศทาง ผลิตมาไม่ตรงความต้องการ มันก็จะได้ตรงกันซักที” นพ.สุธีร์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ไม่ได้หมายความว่าแต่ละโรงเรียนแพทย์ต้องผูกขาดผลิตบุคลากรให้เฉพาะเขตสุขภาพนั้นๆ แต่ต้องการันตีให้ได้ว่าในเขตนั้น แพทย์จะต้องไม่ขาดแคลน ส่วนทาง สธ.ก็มีหน้าที่ต่อไปคือ maintain ให้อยู่ในระบบได้ ไม่ใช่ใช้ทุนเสร็จก็ลาออกกันหมด
นอกจากนี้แล้ว การทำข้อตกลงลักษณะนี้ ทาง สธ.ก็ควรทำกับวิชาชีพอื่นๆ ด้วย เพราะหมอทำงานคนเดียวไม่ได้ งานส่วนใหญ่อยู่ที่พยาบาล จึงควรให้คุณค่าพยาบาลและวิชาชีพอื่นๆ และในฐานะที่ รมว.สาธารณสุข มีทั้งวิทยาลัยพยาบาล วิทยาลัยแพทย์ ฯลฯ อยู่ในมือ ก็น่าจะทำได้
“สรุปคือ ข้อตกลงนี้ยังไม่เห็นภาพในแบบที่เห็นประโยชน์จริงๆ เอาง่ายๆ แค่ refer ในพื้นที่ให้ได้ก่อนเถอะ ซึ่งไม่ได้ใช้เงินมากเลย แค่ไปเซ็ตระบบและ adjust ค่าใช้จ่ายนิดหน่อย ยอมจ่ายเพิ่มหน่อยได้ไหม” นพ.สุธีร์ กล่าวทิ้งท้าย
- 36 views