สปสช.เขต 4 สระบุรีร่วมกับ มศว. สสส. สธ. ขับเคลื่อน COP R2R 15 เรื่องแก้ไขปัญหาสุขภาพในพื้นที่ ดึงกลไกเขตสุขภาพเสริมความเข้มแข็งการจัดการระบบสุขภาพระดับอำเภอ เน้นการจัดการสังคมสุขภาพแบบมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในพื้นที่เขตเมือง ตั้งเป้า 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด ร่วมจัดการด้านสุขภาพในพื้นที่อย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เขต 4 สระบุรีร่วมกับ มศว. สสส. สธ. ประชุมเชิงปฎิบัติการสรุปการขับเคลื่อน COP R2R เครือข่าย R2R ภาคกลางเขตสุขภาพที่ 4 โดยมี นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล มศว. นำเสนอที่มาของ COP R2R 15 เรื่อง และ นพ.ประสิทธิชัย มั่งจิตร ผู้จัดการโครงการนำเสนอโครงการสนับสนุนกลไกเขตสุขภาพเพื่อเสริมความเข้มแข็งการบริหารจัดการระบบสุขภาพระดับอำเภอ โดยการจัดการสังคมสุขภาพแบบมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในพื้นที่เขตเมือง เขตสุขภาพที่ 4
นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผอ.สปสช.เขต 4 สระบุรี เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพเขต (อปสข.) 4 สระบุรี อปสข.ครั้งที่ 4/2558 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล มศว. ได้นำเสนอโครงการแก้ไขปัญหาสุขภาพและสนับสนุนส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในระบบบริการด้านสุขภาพ เขตสุขภาพที่ 4 โดยใช้เครื่องมือ R2R จาก COP 15 เรื่อง ต่อที่ประชุม อปสข.เขต 4 สระบุรี โดย นพ.ชูวิทย์ ลิขิตยิ่งวรา ประธาน อปสข.เขต 4 กล่าวชื่นชมโครงการแก้ไขปัญหาสุขภาพฯดังกล่าว และ สปสช.เขต 4 สระบุรีได้สนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนทั้งทางด้านบริการและวิชาการเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคกลาง
นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล มศว. กล่าวว่า ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพ คณะแพทย์ศาสตร์ มศว. ในฐานะสถาบันวิชาการจึงร่วมกับ สปสช.เขต 4 สระบุรี สนับสนุนหน่วยงานภายนอกที่สนใจการพัฒนาระบบสุขภาพ ผ่านความร่วมมือจากหน่วยงานด้านสุขภาพในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ เขตสุขภาพที่ 4 ในประเด็นที่ต้องการพัฒนาร่วมกัน 15 เรื่อง อาทิ เพิ่มความรู้แก่ผู้ป่วยเบาหวานที่พื้นที่ที่มีผู้ป่วยหนาแน่น สร้างความรู้ในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง พัฒนาการดูแลผู้ป่วยหลอดเลือดสมองที่มีคุณภาพชีวิตต่ำให้ดีขึ้น ปัญหาหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นที่เพิ่มมากขึ้น ฝากครรภ์ล่าช้า บางรายถูกข่มขืนทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการที่สามารถช่วยเหลือได้ และชุมชนท้องถิ่นขาดข้อมูลด้านสุขภาพที่สมบูรณ์เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพในพื้นที่ โดยนำผลงาน COP R2R จำนวน 15 เรื่อง สำหรับใช้ในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในภาพรวมของเขต
ผลงาน COP R2R จำนวน 15 เรื่องในพื้นที่ DHS ได้แก่ 1.ระบบบริการผู้ป่วยเบาหวาน 2.ระบบบริการผู้ป่วยติดเตียง 3.ระบบบริการและฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยสมองและหลอดเลือด 4.ระบบบริการฟื้นฟูสภาพ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง 5.ระบบบริการผู้สูงอายุ 6.ระบบบริการผู้ป่วยโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กในชุมชน 7.การใช้ข้อมูลบริการปฐมภูมิเพื่อการพัฒนาเครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอ 8.ระบบบริการให้คำปรึกษาในหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่น 9.ระบบบริการผู้ป่วยระยะสุดท้าย 10.ระบบบริการคัดกรองผู้ป่วยไตวาย 11.การพัฒนาเครือข่ายบริการสุขภาพ DHS 12.ระบบบริการข้อมูลสุขภาพชุมชนด้วยเครื่องมือ Central Health4 Model 13.ระบบบริการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคด้วยแพทย์แผนไทย 14.ระบบบริการ refer ผู้ป่วยติดเชื้อในชุมชนเพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยสูงสุด และ 15.ระบบบริการให้ความรู้และคำปรึกษาผู้ที่สูบบุหรี่ในชุมชน
นพ.ประสิทธิชัย มั่งจิตร กล่าวว่า โครงการสนับสนุนกลไกเขตสุขภาพเพื่อเสริมความเข้มแข็งการบริหารจัดการระบบสุขภาพระดับอำเภอ โดยการจัดการสังคมสุขภาพแบบมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในพื้นที่เขตเมือง เขตสุขภาพที่ 4 มีพื้นที่เป้าหมายดำเนินการ จำนวน 26 แห่ง โดยพื้นที่ดังกล่าวจะได้รับงบสนับสนุนจาก 2 ส่วน ได้แก่ สสส. สนับสนุนในส่วนของการดูแลพื้นที่และ สปสช. สนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ซึ่งภาคกลางเขตสุขภาพที่ 4 มีสถาบันการศึกษาที่เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวิชาการค่อนข้างมาก จึงอยากเห็นพื้นที่เข้มแข็งและทำงานร่วมกับสถาบันวิชาการในพื้นที่เกิดความร่วมมือในการทำงานเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพ “จะทำอย่างไรให้องค์ความรู้กับพื้นที่ในการทำงานไปด้วยกัน” เพื่อให้เกิดการบูรณาการทำงาน มีการจัดการกันเองในพื้นที่ชุมชน และประชาชนในพื้นที่ได้ประโยชน์ โดยเน้นแก้ไขปัญหาของพื้นที่และพื้นที่ที่มีความพร้อมเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการจัดการ และเป็นการพัฒนา COP R2R จำนวน 15 เรื่อง ให้เกิดองค์ความรู้ต่างๆ นำไปสู่การปฎิบัติ อนาคตมุ่งหวังให้เกิดครอบคลุมทั้ง 8 จว. ตั้งเป้า 1 สถาบันการศึกษา/มหาวิทยาลัย 1 จังหวัดที่จะร่วมจัดการด้านสุขภาพในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
- 6 views