เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 ณ โรงแรมเซนทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กทม. ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงแนวทางจัดทำฐานข้อมูลทะเบียนผู้มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลหน่วยงานรัฐ พร้อมกับบรรยายพิเศษเรื่อง มุมมองต่อระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลและความสำคัญของการจัดทำฐานข้อมูลทะเบียนระดับประเทศ
ภญ.เนตรนภิส กล่าวว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 3 พ.ย.58 ให้ สปสช.ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการทะเบียนสิทธิรักษาพยาบาลของประชาชน (National Beneficiary Registration Center) และให้หน่วยงานรัฐทุกแห่งดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลของหน่วยงานรวมถึงผู้ใช้สิทธิร่วม จัดส่งให้แก่ สปสช.เพื่อทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลในการบริหารจัดการทะเบียนสิทธิรักษาพยาบาลของประชาชน เพื่อให้เกิดการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ อันจะทำให้มีฐานข้อมูลกลางของประเทศที่ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน ซึ่งหน่วยบริการและประชาชนจะสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลร่วมกันได้อย่างเต็มศักยภาพต่อไป
รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ความก้าวหน้าของการดำเนินการในขณะนี้ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 10 ก.พ.59 เห็นชอบแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาสิทธิรักษาพยาบาลของประชาชนแล้ว ซึ่งการดำเนินการต่อจากนี้ หลังจากได้เตรียมระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้รองรับข้อมูลบุคลากรที่มีสิทธิประกันสุขภาพภาครัฐแล้ว รวมถึงการประสานขอข้อมูลผู้มีสิทธิประกันสุขภาพภาครัฐทุกแห่งเพื่อจัดตั้งฐานข้อมูล ประมวลผล ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล และตรวจสอบความซ้ำซ้อนระหว่างสิทธิ คาดว่าภายใน พ.ย.59 นี้ ฐานข้อมูลพร้อมใช้งานได้
ในระยะแรกของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่า ผลกระทบจากความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลสิทธิประกันสุขภาพจากทุกกองทุน ส่งผลให้เกิดความซ้ำซ้อนกับสิทธิกองทุนอื่น หรือแม้กระทั่งซ้ำกับประชาชนที่เสียชีวิตแล้ว แต่มีการนำข้อมูลมาลงทะเบียนทำให้เกิดการออกบัตรซ้ำซ้อน เนื่องจาก สปสช.ไม่มีฐานข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ภายหลังเมื่อมีการส่งข้อมูลผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม และ สปสช.ได้ร่วมพัฒนาฐานข้อมูลผู้มีสิทธิสวัสดิการข้าราชการ และที่สำคัญคือมีการจัดระบบเชื่อมโยงข้อมูลบุคคลกับทะเบียนราษฎร์ ทำให้การออกบัตรซ้ำซ้อนลดลงอย่างมากตั้งแต่ปี 53 นอกจากนั้นยังรวมถึงกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ถึงแม้ยังไม่ได้สัญชาติไทย แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงสิทธิหรือได้รับสัญชาติไทยในอนาคต หรือมีสิทธิแล้วจากกองทุนอื่น
ภญ.เนตรนภิส กล่าวว่า การทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการทะเบียนสิทธิรักษาพยาบาลของประชาชนจะทำให้เกิดประโยชน์ในด้านประชาชนจะได้รับความสะดวก และรับบริการอย่างมั่นใจ ใช้สิทธิได้อย่างถูกต้อง และสามารถเข้าถึงโครงการต่างๆ เช่น วัคซีนในโครงการส่งเสริมป้องกันโรค ยาต้านพิษ เซรุ่มรักษาพิษงู เป็นต้น
“นอกจากนั้น ประชาชนสามารถได้รับสิทธิรักษาพยาบาลต่อเนื่องเมื่อหมดสิทธิจากกองทุนอื่น เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิรักษาพยาบาลให้กับประชาชน หาก สปสช.ได้รับข้อมูลจากหน่วยงานรัฐอย่างสม่ำเสมอ และรัฐสามารถเพิ่มประโยชน์จากการใช้งานบัตรประชาชนอเนกประสงค์ที่มีข้อมูลสิทธิอย่างถูกต้อง ครบถ้วนได้ รวมไปถึงการสร้างความชัดเจนด้านฐานข้อมูลทะเบียนให้กับหน่วยบริการเพื่อเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วย และทำให้รัฐลดงบประมาณที่จ่ายซ้ำซ้อนได้” รองเลขาธิการ สปสช.กล่าว
- 28 views