กระทรวงสาธารณสุข ลงนามความร่วมมือ 20 โรงเรียนแพทย์ จาก 19 มหาวิทยาลัย พัฒนาระบบบริการ การส่งต่อ ผลิตบุคลากร และการวิจัย พร้อมจับคู่แต่ละโรงเรียนแพทย์กับเขตสุขภาพ ชี้เป็นครั้งแรกของวงการสาธารณสุขไทย เพิ่มการเข้าถึงบริการ ประชาชนได้รับการดูแลรักษาครบวงจรในเขตสุขภาพแบบไร้รอยต่อ เตรียมเสนอ 3 ยุทธศาสตร์ จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ สร้างความเข้มแข็งระบบสุขภาพและลดความเหลื่อมล้ำของสถานบริการ เสนอคณะรัฐมนตรี

 

วันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2559) ที่กระทรวงสาธารณสุข  จ.นนทบุรี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยพลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลเอกอุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงข่าวภายหลังเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือด้านระบบบริการ การส่งต่อ การศึกษา และการวิจัย ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และความร่วมมือในระดับพื้นที่ ระหว่างคณะแพทยศาสตร์จาก 19 มหาวิทยาลัยกับ 12 เขตสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในวันนี้เป็นครั้งแรกของวงการสาธารณสุขที่มีการบูรณาการทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และเอกชน ร่วมมือกันพัฒนาระบบบริการสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่ทุกเขตสุขภาพ โดยใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ทันสมัย รักษาเบ็ดเสร็จภายในเขตสุขภาพ เพื่อลดป่วย ลดตาย ลดแออัด และลดการรอคอย เป็นดำเนินงานตามมติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ วันที่ 8 กรกฎาคม 2557 เรื่องจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์

โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำร่างยุทธศาสตร์การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ในภาพรวมของประเทศ ระยะยาว (5– 10 ปี) ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลัก คือ

1.การสร้างความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ เพิ่มการให้บริการด้วยเทคโนโลยีใหม่ การผลิตแพทย์เฉพาะทาง การวิจัยในระดับสากลและองค์ความรู้ใหม่

2.การสร้างความเข้มแข็งระบบสุขภาพ ลดการส่งต่อนอกเขตสุขภาพ การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ การผลิตแพทย์เชี่ยวชาญและเฉพาะทาง

และ 3.การลดความเหลื่อมล้ำของสถานบริการ

ทั้งนี้ แต่ละยุทธศาสตร์แบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ด้าน คือ ด้านบริการ การผลิตบุคลากร และด้านการวิจัย โดยกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละด้าน เพื่อพิจารณาการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ทั้งจำนวน สาขา และที่ตั้ง ตามลำดับความสำคัญเร่งด่วน พร้อมนำร่างยุทธศาสตร์เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปในเดือนมีนาคมนี้ 

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สาระสำคัญข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ

1.ด้านบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข และระบบส่งต่อ ในการเพิ่มเข้าถึงบริการ โดยเฉพาะโรคที่ยุ่งยากซับซ้อน ให้ได้รับการดูแลรักษาที่มีคุณภาพมาตรฐานภายในเขตสุขภาพ เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยครบวงจรภายในเขตสุขภาพแบบไร้รอยต่อ

2.ด้านผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยการพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษา ทั้งก่อนปริญญา และหลังปริญญา

3.ด้านวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุข

และ 4.กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับติดตามและประเมินผล เพื่อปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง      

ทั้งนี้ ได้จัดระบบความร่วมมือเชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาลใน 12 เขตสุขภาพและ 20 คณะแพทยศาสตร์จาก 19 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ดังนี้

เขตสุขภาพที่ 1 ร่วมกับ ม.เชียงใหม่ ม.พะเยา และ ม.แม่ฟ้าหลวง  

เขตสุขภาพที่ 2 ร่วมกับ ม.เชียงใหม่ และ ม.นเรศวร

เขตสุขภาพที่ 3 กับรามาธิบดี ม.มหิดล และ ม.นเรศวร

เขตสุขภาพที่ 4 กับธรรมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ม.นวมินทราธิราช วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า และ ม.สยาม

เขตสุขภาพที่ 5 ร่วมกับศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และ ม.นวมินทราธิราช

เขตสุขภาพที่ 6 กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.บูรพา ม.ศรีนครินทรวิโรฒ และ ม.สยาม

เขตสุขภาพที่ 7 กับ ม.ขอนแก่น และ ม.มหาสารคาม

เขตสุขภาพที่ 8 ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ม.ขอนแก่น ม.มหาสารคาม และวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

เขตสุขภาพที่ 9 กับรามาธิบดี ม.มหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.เทคโนโลยีสุรนารี และวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

เขตสุขภาพที่ 10 กับ ม.ขอนแก่น ม.อุบลราชธานี

เขตสุขภาพที่ 11 กับ ม.สงขลานครินทร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และ ม.วลัยลักษณ์

และเขตสุขภาพที่ 12 กับ ม.สงขลานครินทร์ ม.นราธิวาสราชนครินทร์ และวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า