สธ.เข้มเฝ้าระวังโรคโปลิโอประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง ภายหลัง สปป.ลาว ประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระดับชาติ หลังพบการระบาดของเชื้อโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนกลายพันธุ์ หมออำนวยแจงพบการระบาดทั้งในลาวและเมียนมาร์ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ส่วนไทยวางมาตรการป้องกันและควบคุมโรค 3 ด้านหลัก คือ ความครอบคลุมวัคซียในเด็ก ความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวัง กลไกติดตามต่อเนื่อง
วันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2559) นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามที่มีการระบาดของเชื้อโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนกลายพันธุ์ในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และสถานการณ์ยังคงมีการระบาดอย่างต่อเนื่องจน สปป.ลาว ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระดับชาติ
ซึ่งภายหลังจากที่ประกาศภาวะฉุกเฉินฯ แล้ว สปป.ลาว ได้ออกมาตรการ 2 ข้อ ดังนี้ 1.ผู้พำนักใน สปป.ลาว ต้องได้วัคซีนโปลิโออย่างน้อย 1 เดือนก่อนเดินทางออกนอกประเทศ และ 2.ผู้จะเดินทางเข้าใน สปป.ลาว โดยมีแผนพำนักในลาวตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไปต้องได้รับวัคซีนก่อนเข้าประเทศ ทั้งนี้รัฐบาลของ สปป.ลาว ได้มีหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้มีหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงมหาดไทย ให้แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทราบและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวแล้ว
นพ.อำนวย กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ลงเยี่ยมพื้นที่ในจังหวัดที่เสี่ยงและประเมินสถานการณ์ รวมถึงออกมาตรการแจ้งเตือนไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแล้ว ปัจจุบันประเทศไทยแม้จะมีสถานะปลอดโรคโปลิโอมาแล้ว 18 ปี แต่ยังอยู่ในสถานะที่มีความเสี่ยง โดยประเทศไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่อโรคโปลิโอ เนื่องจากมีชายแดนติดกับประเทศที่มีการระบาดของโรคโปลิโอ จึงจำเป็นต้องสร้างเกราะคุ้มกันให้แก่ประเทศ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเมื่อมีผู้เดินทางเข้ามาภายในประเทศ ประเทศไทยจะมีภูมิคุ้มกันโรคที่ดีเพียงพอ มีระบบเฝ้าระวังที่สามารถค้นหาผู้ป่วยในระยะเริ่มแรกได้เร็ว และมีกลไกติดตามการดำเนินงานตามมาตรการต่างๆ ที่เข้มแข็งต่อเนื่อง ทั้งในระดับจังหวัดและระดับกระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้ ประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้เข้มข้นมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโปลิโอ 3 ด้านหลัก ได้แก่
1.เร่งรัดเรื่องความครอบคลุมวัคซีนในเด็ก หากพื้นที่ใดมีความครอบคลุมของวัคซีนน้อยกว่าร้อยละ 90 ให้เร่งติดตามให้เด็กรับวัคซีนให้ครบถ้วนโดยเร็ว
2.เสริมความเข้มแข็งของระบบเฝ้าระวังผู้ป่วยอาการอัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกเฉียบพลัน โดยการแจ้งเตือนบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดน รวมทั้งเร่งรัดการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก
และ 3.จัดให้มีกลไกติดตามระดับจังหวัดและกระทรวงสาธารณสุขอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ได้ให้ความสำคัญในการควบคุมกำจัดโรคโปลิโอ โดยมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการกวาดล้างโปลิโอร่วมกับประชาคมโลก ให้หมดไปในอีก 4 ปีข้างหน้า ตามแผนยุทธศาสตร์ระดับโลก ภายใต้คำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก
ทั้งนี้ ประเทศไทยจะดำเนินการ เปลี่ยนมาใช้วัคซีนโปลิโอในชนิดกินแบบใหม่ที่ประกอบด้วยไวรัสโปลิโอ 2 ชนิด (bivalent OPV) คือ ไวรัสโปลิโอชนิดที่ 1 และ 3 โดยใช้แทนวัคซีนโปลิโอที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่มีส่วนประกอบของไวรัสโปลิโอ 3 ชนิด (trivalent OPV) เพื่อกวาดล้างไวรัสในวัคซีนชนิดที่ 2 ซึ่งทุกประเทศจะดำเนินการโดยพร้อมเพรียงกัน ในเดือนเมษายน 2559 นี้
“สำหรับพี่น้องประชาชนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะร่วมมือในการกวาดล้างโปลิโอ โดยนำบุตรหลานมารับวัคซีนตามกำหนด ซึ่งบุตรหลานของท่านจะได้รับวัคซีนป้องกันโรคสำคัญอีกหลายชนิด โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา บุตรหลานของท่านจะได้รับวัคซีนโปลิโอชนิดฉีดเพิ่มเติมที่อายุ 4 เดือน ร่วมกับวัคซีนโปลิโอชนิดกินตามกำหนดเดิมที่อายุ 2 เดือน, 4 เดือน, 6 เดือน, 18 เดือนและ 4 ปี การเจ็บเพิ่ม 1 ครั้ง ถือว่าคุ้มค่าเพราะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันบุตรหลานของท่านให้ปลอดภัยจากโรคโปลิโอที่อาจแพร่ระบาดมาจากประเทศอื่น หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นพ.อำนวย กล่าว
- 7 views