แพทยสภา ผลักดันแก้ พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เดินหน้าให้มีการ “ต่ออายุใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม” จากเดิมมีผลตลอดชีพ วัตถุประสงค์เพื่อแพทย์พัฒนาความรู้และเทคโนโลยีการรักษาผู้ป่วย พร้อมตรวจสอบจำนวนแพทย์ในระบบต่อเนื่อง ย้ำขึ้นทะเบียนต่ออายุไม่ต้องสอบใหม่ แต่ให้แสดงหลักฐานอบรมและศึกษาต่อเนื่องแทน แถมไม่มีผลย้อนหลังแพทย์ที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพฯ ไปแล้ว ครอบคลุมเฉพาะแพทย์ใหม่ที่สอบใบอนุญาตที่ต้องจ่ายค่าขึ้นทะเบียน เผยความคืบหน้าเสนอร่างกฎหมายต่อ รมว.สธ.แล้ว
นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขการต่ออายุใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่า ขณะนี้แพทยสภาได้ส่งร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้กับ รมว.สาธารณสุขแล้ว เพื่อนำเข้า ครม.และส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป โดยในส่วนของการต่ออายุใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมนั้น แพทยสภาได้เป็นผู้เสนอจากเดิมที่ใบอนุญาตตลอดชีพ ซึ่งที่ผ่านมาได้เป็นผู้ผลักดันมาโดยตลอดเพื่อให้เกิดการคุ้มครองประชาชน เดิมนั้น แพทยสภาได้แก้ไขในส่วนของระเบียบ แต่ได้ถูกคัดค้านว่าตามกฎหมาย แพทยสภามีอำนาจเพียงแค่การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมเท่านั้น ไม่มีอำนาจการให้ต่อใบอนุญาต ทำให้ต้องมีการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตามการแก้ไขการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมนั้น จะให้มีผลเฉพาะผู้ที่สอบและรับใบอนุญาตใหม่เท่านั้น โดยมีการกำหนดชัดเจนว่าจะต้องต่ออายุเมื่อครบกี่ปี แต่จะไม่มีผลย้อนหลังไปยังแพทย์ผู้ได้รับใบอนุญาตฯ ก่อนหน้านี้ เพราะที่ผ่านมามีผู้ต่อต้านมาก แพทยสภาจึงได้สรุปว่าคงจะไม่ให้มีผลย้อนหลังเช่นเดียวกับใบขับขี่ที่ไม่มีผลกับผู้ที่ได้รับใบขับขี่ตลอดชีพไปแล้ว โดยให้ขึ้นทะเบียนต่อใบอนุญาตโดยไม่ต้องจ่ายเงิน และให้แสดงหลักฐานการเข้าร่วมอบรมหรือประชุมวิชาการแทน เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีการติดตามและพัฒนาองค์ความรู้วิชาการแพทย์ต่อเนื่อง เป็นลักษณะการบังคับ
นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบว่ายังมีแพทย์ที่ยังคงทำงานในระบบกี่คนและทำงานอยู่ที่ไหนกันบ้าง เพราะปัจจุบันแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตขณะนี้มีจำนวนถึง 50,000 คน แต่แพทยสภากลับไม่รู้ว่ามีใครที่ยังทำงานเป็นแพทย์ในระบบอยู่บ้าง
“เรื่องการแก้ไขให้มีการต่อใบอนุญาตเป็นข้อเสนอของทางแพทยสภาเอง และได้พยายามผลักดันทำมาหลายปี แต่ด้วยมีเสียงต่อต้าน ขยับทีไรก็มีเสียงคัดค้านทุกที โดยเฉพาะจากแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตไปแล้ว ดังนั้นจึงได้สรุปว่า ในการต่อใบอนุญาตฯ ให้ครอบคลุมเฉพาะคนจบใหม่เท่านั้น ไม่ให้มีผลย้อนหลังเพื่อให้สามารถออกกฎหมายนี้ออกมาได้ โดยในประเทศสหรัฐฯ ก็ไม่มีผลย้อนหลังเช่นกัน ทั้งนี้หากเป็นไปได้อยากให้นำเข้า สนช. และผ่านการพิจารณาในรัฐบาลชุดนี้” นายกแพทยสภา กล่าวและว่า นอกจากนี้ที่ล่าช้าส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์การเมือง ทำให้ยังไม่มีความคืบหน้า
ส่วนสาเหตุที่ต้องมีการแก้ไขในประเด็นนี้ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เป็นแนวโน้มเดียวกับทั่วโลก ซึ่งหลังแพทย์ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแล้ว บางคนสงสัยว่าในกลุ่มแพทย์ที่เรียนจบมานานแล้วจะยังมีความรู้และความเชี่ยวชาญในการรักษาและดูแลผู้ป่วยอีกหรือไม่ และมีการพัฒนาการรักษาและเทคโนโลยีการแพทย์ที่รุดหน้าหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลต่อการรักษาผู้ป่วย ดังนั้นแพทยสภาจึงได้เสนอในเรื่องนี้ ซึ่งเรื่องนี้ทุกวิชาชีพต่างต้องทำเหมือนกันหมดเพื่อเป็นการคุ้มครองประชาชน โดยหลักเกณฑ์ที่จัดทำขึ้นได้ดูตัวอย่างจากต่างประเทศ และประเทศในภูมิภาคอาเซียนนี้
ต่อข้อซักถามว่าในการต่อใบอนุญาตของแพทย์จำเป็นต้องมีการสอบหรือไม่ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ต้อง แต่ให้ใช้หลักฐานแสดงถึงการอบรมและการศึกษาต่อแทน ซึ่งในประเทศสหรัฐฯ ที่มีการสอบใบประกอบวิชาชีพใหม่ในการต่ออายุ ปรากฎว่ามีแพทย์ที่ลาออกไปครึ่งหนึ่ง แม้ว่าจะมีข้อถกเถียงว่าการแสดงถึงการอบรมและการศึกษาจะประกันได้อย่างไรว่าแพทย์มีความรู้ดีขึ้น แต่ก็ดีกว่าไม่ได้เข้ารับการอบรมหรือศึกษาใดๆ เลย ส่วนที่ในอดีตที่ไม่มีการกำหนดการต่ออายุใบประกอบวิชาชีพแพทย์นั้น หากไปดูทุกประเทศเหมือนกันหมด โดยเพิ่งมีการกำหนดหลักเกณฑ์การต่อใบอนุญาตทีหลังทั้งสิ้น
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ในการแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ยังมีการแก้ไขในเรื่องอื่นๆ เช่นการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ซึ่งแต่เดิมการพิจารณามีหลายขั้นตอนมากจนเกิดความล่าช้า และมักถูกต่อว่าจากผู้เสียหายทั้งผู้ป่วยและญาติ ดังนั้นจึงมีการปรับแก้ให้การพิจารณาเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น
- 555 views