นักวิชาการขอนแก่นโชว์นวัตกรรมตรวจหาแอนติเจนของพยาธิใบไม้ตับจากปัสสาวะ มีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีเดิม ได้รับการยอมในระดับนานาชาติ มีความแม่นยำลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก และสามารถตรวจคัดกรองคนไข้ในปริมาณที่มากในคราวเดียว
ในวันที่ 24 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมาได้มีการนำเสนองานวิจัย“การตรวจปัสสาวะเพื่อวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ตับ : นวัตกรรมใหม่เพื่อการควบคุมและกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับในชุมชน” ในงานวิชาการ "จาก CASCAP สู่ท้าทายไทย" ณ ห้องประชุม Orchid Ballroom โรงแรมพูลแมนขอนแก่นราชาออร์คิด จังหวัดขอนแก่น
ศ.ไพบูลย์ สิทธิถาวร
ศ.ไพบูลย์ สิทธิถาวร ศาสตราจารย์ด้านปรสิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ทำการวิจัยเรื่องการตรวจปัสสาวะเพื่อวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ตับโดยการตรวจหาแอนติเจนของพยาธิใบไม้ตับในปัสสาวะของผู้ติดเชื้อ จากเดิมที่การตรวจวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ตับจะใช้วิธีการตรวจอุจจาระเป็นหลัก การตรวจหา "แอนติเจน" เป็นการตรวจที่ทำให้รู้ได้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับหรือไม่ ซึ่งโรคพยาธิใบไม้ตับเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งท่อน้ำดี ดังนั้นการตรวจหา "แอนติเจน" จึงเป็นการป้องกันโรคมะเร็งท่อน้ำดีและพยาธิใบไม้ตับตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
จากการระบาดของพยาธิที่รุนแรงในภาคอีสานทำให้กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้ “การกำจัดโรคพยาธิใบไม้ในตับเพื่อลดมะเร็งท่อน้ำดี” เป็น 1 ใน 10 นโยบายในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ในปีงบประมาณ 2559 เพื่อบรรลุเป้าหมายให้ประชาชนทุกคนมีสุขภาพดี
ในปัจจุบันการวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ตับใช้วิธีการตรวจหาไข่พยาธิในอุจจาระ ซึ่งเป็นวิธีการมาตรฐานแต่มีประสิทธิภาพต่ำ และต้องใช้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการตรวจ อีกทั้งไม่สามารถตรวจคนไข้ในปริมาณมากในเวลาจำกัดได้ ทำให้เกิดปัญหาคอขวดในการตรวจคัดกรองโรค ซึ่งไม่สอดคล้องต่อการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในภาคอีสาน
ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการพัฒนาวิธีการวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ตับที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิม ซึ่งวิธีการตรวจหาแอนติเจนของพยาธิในปัสสาวะผู้ติดเชื้อ เพื่อวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ตับเป็นวิทยาการใหม่ที่ได้รับการยอมในระดับนานาชาติ มีความแม่นยำลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก และสามารถตรวจคัดกรองคนไข้ในปริมาณที่มากในคราวเดียว
โดยหลังจากนี้นักวิจัยจะทำการพัฒนารูปแบบการตรวจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในภาคอีสาน ซึ่งนับเป็นโรคที่เป็นสาเหตุให้คนอีสานเสียชีวิตมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก
- 706 views