เลขาธิการสภาเทคนิคการแพทย์เผยสภาเภสัชกรรมรับเรื่องพิจารณาเพิกถอนหลักสูตรสอนเภสัชกรเจาะเลือดคัดกรองโรคแล้ว อยู่ระหว่างประสานหารือ พร้อมเชิญตัวแทนสภาบันศึกษาเข้าร่วม แจงเหตุ เพราะเภสัชกรเจาะเลือดไม่มีกฎหมายรองรับ แถมมีโทษอาญา ยกเว้นเพียงผู้ป่วยเจาะเลือดตนเอง ญาติเจาะดูแลผู้ป่วย ส่วน อสม.คัดกรองเบาหวาน เป็นนโยบายรัฐ มีกฎกระทรวงรองรับ ยืนยันไม่ได้ขัดแย้ง แต่ต้องทำให้ชัดเจน
นายสมชัย เจิดเสริมอนันต์ เลขาธิการสภาเทคนิคการแพทย์ กล่าวถึงกรณีสภาเทคนิคการแพทย์ได้ส่งหนังสือถึงสภาเภสัชกรรมขอให้พิจารณาเพิกถอนหลักสูตรการเจาะเลือดให้กับนักศึกษาคณะเภสัชกรรมศาสตร์ สภาบันการศึกษา ว่า เรื่องนี้มีประเด็นเริ่มต้นจากกรณีมีผู้ร้องเรียนมายังสภาเทคนิคการแพทย์ ถึงการตรวจคัดกรองเบาหวานที่ร้านยา ซึ่งต้องมีการเจาะเลือดทำได้หรือไม่ ซึ่งหากดูตามข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ.2547 การเจาะเลือดเพื่อตรวจคัดกรองเบาหวานถือเป็นวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ เภสัชกรทำไม่ได้ และไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีสถาบันการศึกษาบางแห่งเห็นว่ามีการตรวจคัดกรองเบาหวานที่ร้านยา ซึ่งในอดีตไม่เคยมี จึงได้กำหนดเป็นหลักสูตรการสอนเพิ่มเติมให้กับนักศึกษาเภสัชกรด้วย จึงเป็นที่มาที่ไปของการทำบันทึกนี้
นายสมชัย กล่าวว่า กรณีนี้ทางสภาเทคนิคการแพทย์ได้หารือกับสภาเภสัชกรรมมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ทางสภาเภสัชกรรมอยากให้สภาเทคนิคการแพทย์ส่งหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อนำเข้าสู่การหารือ จึงได้มีการทำบันทึกนี้ส่งไปและอยู่ระหว่างรอการตอบรับ และเมื่อมีผู้ถ่ายรูปบันทึกนี้และนำเผยแพร่ในโซเชียล จึงทำให้เกิดประเด็นที่มีผู้เข้ามาร่วมแสดงความเห็น จึงมีการตอบโต้โดยใช้อารมณ์ทำให้ดูเหมือนทะเลาะกัน ซึ่งข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ไม่ได้เป็นแบบนั้น ไม่ได้มีความขัดแย้งระหว่างวิชาชีพ ซึ่งผู้รับผิดชอบทั้ง 2 สภาวิชาชีพได้มีการปรึกษาหารือกันก่อนหน้านี้ และอยู่ระหว่างการหาทางออกร่วมกัน โดยจะมีการเชิญฝ่ายสถาบันการศึกษาเข้าร่วมหารือด้วย
“เรื่องนี้ไม่ได้เป็นความขัดแย้ง และอยู่ระหว่างพูดคุยกันถึงบทบาทวิชาชีพ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะใครจะทำอะไรได้หรือไม่ได้นั้น มีข้อกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งการเจาะเลือดตรวจ ตามข้อเท็จจริงเภสัชกรทำไม่ได้อยู่แล้ว กฎหมายไม่ได้อนุญาตให้ทำ” เลขาธิการสภาเทคนิคการแพทย์ กล่าวและว่า ส่วนกรณีการกำหนดเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนนั้น แม้ว่าจะทำได้เพราะถือเป็นอิสรภาพทางการศึกษา แต่หลังจบประกอบวิชาชีพต้องดูขอบเขตวิชาชีพด้วยว่าทำได้หรือไม่ เนื่องจากมีกฎหมายวิชาชีพกำกับไว้อีกชั้นหนึ่ง
นายสมชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในทางกฎหมายได้มีข้อยกเว้นกรณีการเจาะเลือดที่ไม่ใช่นักเทคนิคการแพทย์ คือกรณีคนไข้เจาะเลือดตรวจเบาหวานด้วยตนเอง และกรณีที่ลูกหลานและญาติของผู้ป่วยเจาะตรวจให้ รวมไปถึงกรณีการตรวจคัดกรองเบาหวานโดยอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการตรวจคัดกรองเบาหวานกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศ พร้อมออกระเบียบกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รองรับ โดยระเบียบดังกล่าวเป็นการหารือร่วมกันระหว่าง สธ. แพทยสภา และสภาเทคนิการแพทย์ มีการจัดหลักสูตรการอบรมการตรวจเลือดให้ อสม. มีนักเทคนิคการแพทย์ในโรงพยาบาลทำหน้าที่พี่เลี้ยง ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้มีที่มาที่ไป อีกทั้งไม่มีค่าตอบแทน ต่างจากกรณีการเจาะเลือดตรวจคัดกรองที่ร้านยาที่มีค่าตอบแทน
ต่อข้อซักถามว่า หากมองในแง่ความแม่นยำการตรวจเลือด ในกรณีที่ไม่ใช่เทคนิคการแพทย์จะแตกต่างกันหรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า ในประเด็นนี้คงต้องพูดว่าทำได้หรือไม่ เพราะวิชาชีพเหล่านี้มีกฎหมายรองรับ หากใครทำโดยไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพจะมีโทษสูงสุด คือจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่เป็นโทษอาญา ซึ่งเรื่องนี้ทุกวิชาชีพต่างเหมือนกัน โดยในกรณีไม่ใช่แพทย์แต่ให้การรักษาก็ได้รับโทษนี้ เช่นเดียวกับกรณีการผลิตยาและปรุงยาโดยไม่ใช่เภสัชกรก็ได้รับโทษนี้ทางอาญาเช่นกัน ดังนั้นหากเภสัชกรจะทำหน้าที่นี้ต้องมีการออกกฎหมายลูกรองรับ ไม่ใช่จะทำอะไรก็ทำได้เลย
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีนี้แสดงว่าควรยกเลิกการตรวจคัดกรองเบาหวานที่ร้านยาด้วยหรือไม่ นายสมชัย กล่าวย้ำว่า กฎหมายไม่ได้ยกเว้นให้ทำ หากทำต้องออกเป็นกฎหมายลูกให้ถูกต้องก่อน และต้องดูบทบาทร้านยาว่า จะให้คำแนะนำเรื่องยา ให้คำปรึกษาสุขภาพทั่วไป และต้องไปถึงการทำหน้าที่คัดกรองโรคด้วยหรือไม่ เพราะในระบบสุขภาพยังมีระบบคัดกรองโรคอื่นๆ อีกเพื่อรองรับเรื่องนี้หรือไม่ เรื่องนี้ไม่ได้ชวนทะเลาะแต่ต้องทำให้ชัดเจนและถูกต้อง ซึ่งคงต้องหาข้อสรุปร่วมกัน ยืนยันว่าไม่ได้เป็นความขัดแย้ง และสภาเทคนิคไม่ได้โวยใครตามที่มีการเสนอผ่านสื่อก่อนหน้านี้ โดยที่ผ่านมาในกลุ่มองค์กรวิชาชีพได้มีการหารือในประเด็นต่างๆ เป็นประจำอยู่แล้ว
- 489 views