กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศโรคติดเชื้อไวรัสซิกาเป็นโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ.2523 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการป้องกันควบคุมโรคได้อย่างเต็มที่ เน้นเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา ทางกีฏวิทยา ในหญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีไข้ออกผื่น ทารกที่มีความผิดปกติศีรษะเล็ก และผู้ที่มีอาการปลายประสาทอักเสบ แนะประชาชนไม่ต้องกังวล ไทยไม่มีการระบาดของโรค ขอความร่วมมือกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ในบ้าน รอบๆ บ้าน และในชุมชน ส่วนผู้ป่วยชายที่ติดเชื้อไวรัสซิการักษาที่ รพ.ภูมิพล อาการดีขึ้น กลับบ้านแล้ว
วันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2559) ที่กรมควบคุมโรค นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา พลอากาศตรีสันติ ศรีเสริมโภค ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช และคณะ ร่วมกันแถลงข่าว มาตรการควบคุมป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกาของประเทศไทย ว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยถึงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika virus disease) ในต่างประเทศ ภายหลังองค์การอนามัยโลก ประกาศเป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา ได้กำชับให้ทุกภาคส่วน เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมมาตรการป้องกัน ควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นเฝ้าระวัง 4 เรื่อง คือ
1.เฝ้าระวังทางระบาดวิทยา
2.เฝ้าระวังทางกีฏวิทยา
3.เฝ้าระวังในหญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีไข้ออกผื่น ทารกที่มีความผิดปกติศีรษะเล็ก โดยได้ประสานกับสมาคมสูตินรีแพทย์แห่งประเทศในการเฝ้าระวังอีกด้วย
และ 4.เฝ้าระวังในผู้ที่มีอาการปลายประสาทอักเสบ ซึ่งขณะนี้ห้องปฎิบัติการ (Lab) ของประเทศไทยสามารถตรวจหาเชื้อไวรัสซิกาได้หลายแห่ง และในวันนี้จะได้ลงนามในประกาศ 2 ฉบับตามที่กรมควบคุมโรคเสนอ
นพ.อำนวย กล่าวต่อว่า ศูนย์ปฎิบัติการภาวะฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข ได้หารือกับผู้เชี่ยวชาญออกประกาศ 2 ฉบับ ได้แก่ ชื่อและอาการสำคัญผู้ป่วย และประกาศให้โรคซิกาเป็นโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2523 หากพบผู้ป่วยต้องแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขทันที อย่างไรก็ตาม ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ประเทศไทยไม่ใช่พื้นที่ระบาดของโรค แต่ละปีมีผู้ป่วยเฉลี่ยปีละ 5 คน โรคนี้ส่วนใหญ่ป่วยแล้วหายได้เอง อาการโรคไม่รุนแรง ไม่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต มีปัญหาเฉพาะกับหญิงตั้งครรภ์ อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง อาการเหล่านี้ทุเลาลงภายในเวลา 2-7 วัน ได้เอง
ขอความร่วมมือประชาชน ร่วมมือกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทั้งในบ้าน รอบๆ บ้านและในชุมชน ทั้งคนในครอบครัวและคนในชุมชนเอง ต้องช่วยกันค้นหาและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายร่วมกัน ไม่จำเป็นต้องรอเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการให้ ให้ถือว่าเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะต้องช่วยกันในเรื่องนี้ ส่วนผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาดในแถบประเทศลาตินอเมริกา และแคริเบียน หากมีอาการข้างต้นสามารถเข้ารับการตรวจรักษาได้ที่สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนมหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง ขอให้เชื่อมั่นในระบบเฝ้าระวังของประเทศไทย และโปรดติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุข หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
กรณีที่มีข่าวพบผู้ป่วยที่โรงพยาบาลภูมิพลฯนั้น พลอากาศตรีสันติ ศรีเสริมโภค ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กล่าวว่า โรงพยาบาลฯ ได้พบผู้ป่วยชาย มีอาการไข้ออกผื่น ได้เจาะเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบเป็นโรคซิกา ซึ่งทางโรงพยาบาลไม่ได้ปิดบังการพบผู้ป่วยในครั้งนี้ และได้ให้การรักษาจนมีอาการดีขึ้น และผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว ทั้งได้ดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ทั้งการทำลายยุงที่เป็นพาหะนำโรค ให้ความรู้ประชาชน โดยมีการประสานงานกันใกล้ชิดกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
- 36 views