เซอร์ มาร์มอต ผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลปี 58 เผย สุขภาพจะดีหรือแย่ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ทางสังคมที่กว้างกว่าปัจจัยทางสุขภาพเพียงอย่างเดียว เช่น การศึกษา การว่างงาน ความยากจน ที่อยู่อาศัยและการทำงาน แนวคิดเรื่องสุขภาพจึงกว้างกว่าเรื่องสาธารณสุขและการเจ็บไข้ได้ป่วยตามที่เข้าใจกันมา ปัญหาใหญ่ด้านสุขภาพของหลายประเทศทั่วโลกคือ ความไม่เท่าเทียมทางสุขภาพ ช่องว่างสถานะสุขภาพมีความแตกต่างกันมากทั้งภายในประเทศและระหว่าง
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2559 เซอร์ ไมเคิล กิเดียน มาร์มอต (Sir Michael Gideon Marmot) ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 24 ประจำปี 2558 สาขาการสาธารณสุข ได้บรรยายพิเศษเรื่อง “ปัจจัยทางสังคมและความไม่เท่าเทียมทางสุขภาพจากมุมมองโลก” (Social Determinants and Health Equity: A Global Perspective) ณ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Sir Michael Gideon Marmot
เซอร์ มาร์มอต ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสถาบันความเป็นธรรมด้านสุขภาพและศาสตราจารย์ระบาดวิทยา ภาควิชาระบาดวิทยาและสาธารณสุข ยูนิเวอร์ซิตี้คอลเลจลอนดอน มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร และนายกแพทยสมาคมโลก ผู้มีผลงานสำคัญด้านการศึกษาวิจัยทางระบาดวิทยาอย่างเป็นระบบมานานกว่า 35 ปี โดยเน้นบทบาทของเชื้อชาติ วิถีการดำเนินชีวิต เศรษฐานะ ความไม่เท่าเทียมกัน ปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาวะ ความมีอายุยืนยาว และโอกาสการเกิดโรคของประชากรในหลายประเทศทั่วโลก
รวมถึงเสนอแนวทางการแก้ปัญหาด้วยหลักปัจจัยทางสังคมกำหนดสุขภาพ (Social Determinants of Health) ซึ่ง เป็นการประเมินปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสังคมเพื่อป้องกันโรค และการสร้างเสริมศักยภาพของคนอย่างยั่งยืน ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยชรา โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชน อาชีพ และรายได้ ซึ่งรัฐบาลของประเทศอังกฤษได้นำองค์ความรู้นี้ไปใช้พัฒนาประเทศ และได้กระจายอย่างกว้างขวางในทวีปยุโรป รวมถึงองค์การอนามัยโลกได้นำแนวคิดนี้ไปวางแผนกลยุทธ์เป็นนโยบายสาธารณะ ซึ่งมีผลต่อแนวทางปฏิบัติด้านสุขภาพทั่วโลก
สำหรับสาระสำคัญที่ เซอร์ มาร์มอต ได้บรรยายให้กับประเทศไทยในหัวข้อ “ปัจจัยทางสังคมและความไม่เท่าเทียมทางสุขภาพจากมุมมองโลก” พบว่า ปัญหาใหญ่ด้านสุขภาพของหลายประเทศทั่วโลกคือ ความไม่เท่าเทียมทางสุขภาพ ช่องว่างสถานะสุขภาพมีความแตกต่างกันมากทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ดังตัวอย่างอายุขัยเฉลี่ยของประชากรเซียร์ราลีโอนสั้นเพียง 34 ปี ขณะที่ญี่ปุ่นอายุขัยเฉลี่ยยืนยาวถึง 81.9 ปี หรือแม้แต่ในสหรัฐอเมริกาผู้ที่อยู่อาศัยในย่านคนยากจนและคนร่ำรวยในเขตบัล ติมอร์มีอายุขัยเฉลี่ยห่างกันถึง 20 ปี
ซึ่งความไม่เท่าเทียมทางสุขภาพมาจากหลายปัจจัยทั้งด้านสุขภาพกาย-จิต และปัจจัยทางสังคม โดยสถานะสุขภาพเป็นผลมาจากปัจจัยทางสังคม (สังคม เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อมทางกายภาพ) มากที่สุดถึงร้อยละ 50 รองลงมาคือ พฤติกรรมทางสุขภาพ ร้อยละ 30 (ข้อมูลจากองค์กรโรเบิร์ต วูด จอนสัน และมหาวิทยาลัยวิสคอนซินประชากรสถาบันสุขภาพ ปี 2014)
จากรายงานที่สำคัญเรื่อง “Closing the Gap in a Generation” ตีพิมพ์ปี 2551 โดยคณะกรรมาธิการปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ องค์การอนามัยโลก ซึ่งเซอร์ มาร์มอต เป็นประธานพบว่า สุขภาพจะดีหรือแย่ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ทางสังคมที่กว้างกว่าปัจจัยทางสุขภาพเพียงอย่างเดียว เช่น การศึกษา การว่างงาน ความยากจน ที่อยู่อาศัยและการทำงาน แนวคิดเรื่องสุขภาพจึงกว้างกว่าเรื่องสาธารณสุขและการเจ็บไข้ได้ป่วยตามที่เข้าใจกันมา
แนวคิดสำคัญเพื่อลดความไม่เท่าเทียมทางสุขภาพจึงมี 3 มาตรการ ได้แก่
1) การทำงานเชิงรุกในทุกช่วงวัย (Life course approach) ตั้งแต่เจริญเติบโตของเด็กปฐมวัย การศึกษาในทุกระดับ การใช้ชีวิต การทำงาน และการเป็นผู้สูงวัย
2) การแก้ปัญหาการกระจายทรัพยากรอย่างไม่เท่าเทียม ได้แก่ การกระจายอำนาจ การจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรอื่นๆ
3) การประเมินและทำความเข้าใจต่อปัญหา และวิธีการแก้ไขปัญหา ขยายองค์ความรู้และพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
เซอร์ มาร์มอต ยังชี้ให้เห็นถึงประเด็น “การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพ” หาก ประชากรโดยเฉพาะเพศหญิงมีการศึกษาที่สูงขึ้น ความเสี่ยงทางสุขภาพก็จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น อัตราการตายของทารกมีความสัมพันธ์กับระดับการศึกษาของมารดา ประเทศที่มารดาไม่ได้รับการศึกษา อัตราการตายของทารกจะสูง เช่น คองโก นอกจากนี้โอกาสในการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดของประชากรที่จบการศึกษาระดับประถมมีอัตราสูงกว่ามัธยม 2 เท่า และปริญญาตรีถึง 3 เท่า
นอกจากนี้ เซอร์ มาร์มอต ยังได้ยกตัวอย่างความเหลื่อมล้ำระหว่างชุมชนในเมืองบัลติเมอร์ สหรัฐอมริกา ได้แก่ เมือง Upton/Druid และ เมือง Roland Park ที่ประชากรมีอายุขัยต่างกันถึง 20 ปี โดยมีสาเหตุมาจากสภาพแวดล้อม และปัจจัยที่เกี่ยวสัมพันธ์กับสภาพครอบครัวและระดับการศึกษา ดังนี้
การพัฒนาเด็กช่วงปฐมวัยและการศึกษาทุกระดับ จึงถือเป็นหัวใจของการทำงานในการลดความไม่เท่าเทียมทางสุขภาพ เพื่อให้เด็กมีการเริ่มต้นที่ดี เยาวชนและประชากรสามารถพัฒนาขีดความสามารถได้สูงและควบคุมตนเองได้ดีด้วย ซึ่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 1995 (พ.ศ.2538) ถึง 2010 (พ.ศ.2553) การเข้าถึงการศึกษาของประชากรอายุระหว่าง 15-60 ปี อยู่ในระดับดีเฉลี่ยการศึกษาอยู่ที่ 8 ปี แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่ทำได้ดีกว่า เช่น มาเลเซีย การเข้าถึงการศึกษาเฉลี่ยอยู่ที่ 11 ปี เกาหลีใต้และญี่ปุ่น 12 ปี ตามลำดับ
ตัวอย่างชุมชนสลัมในอินเดีย (SEWA case 2008) ที่เซอร์ มาร์มอต ได้หยิบยกเพื่อชี้ให้เห็นรูปธรรมของความเปลี่ยนแปลงด้วยการแก้ไขปัจจัยทางสังคมและสภาวะแวดล้อมที่ส่งผลถึงสุขภาวะโดยตรงพบว่า หลังจากปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพของชุมชนแออัดและในบ้าน การพัฒนาชุมชน รวมถึงการมีองค์กรระดับเมืองในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมของชุมชนสลัมใน Ahmadabad ของอินเดีย ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 550 เหรียญสหรัฐต่อครัวเรือน หลังจากได้ติดตามการลงทุนสิ่งเหล่านี้ในชุมชนสลัมว่ามีการพัฒนาทางสุขภาพที่ดีขึ้นหรือไม่ก็พบว่า โรคที่มาจากน้ำสกปรกลดลง เด็กเริ่มไปเรียนมากขึ้น และผู้หญิงสามารถมีเวลาในการทำงานมากขึ้น
เซอร์ มาร์มอต ทิ้งท้ายถึงประเด็นที่สำคัญว่า การทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมทางสุขภาพที่ไม่ได้เป็นการทำงานเฉพาะสุขภาพโดยตรงเท่านั้น แต่ต้องเป็นการทำงานแบบบูรณาการกับหลายภาคส่วน (cross-sectoral) เช่น ภาครัฐ ภาคสังคม และเอกชน สถาบันวิชาการ ต้องมีการวางนโยบายการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางสุขภาพที่สอดคล้องในกระทรวงต่างๆ รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งในการทำงานเพื่อความเป็นธรรมในระดับชาติ ได้แก่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หลักประกันด้านการศึกษาในระดับปฐมวัย และการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตลอดจนการคุ้มครองและสวัสดิการทางสังคม เป็นต้น
เซอร์ไมเคิล มาร์มอต ได้เข้ารับพระราชทานรางวัลเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2558 ในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2559 ในด้านการสาธารณสุข ส่วนผู้เข้ารับพระราชทานรางวัลอีกท่านหนึ่งในปีนี้ได้แก่ ศ.นพ.มอร์ตัน เอ็ม มาวเวอร์ รางวัลสาขาการแพทย์ ซึ่งมีผลงานดีเด่นคือ ผู้ร่วมคิดค้นเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติชนิดฝังในร่างกาย หรือเอไอซีดีและเป็นผู้คิดค้นหลักของเครื่องรักษาหัวใจด้วยวิธีให้จังหวะ หรือซีอาร์ที
ขอบคุณที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)
- 288 views