นสพ.ประชาชาติธุรกิจ : แผนการพัฒนาไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ หรือ เมดิคอลฮับ ที่เริ่มต้นเมื่อ 10 ปี ก่อน ยังคงเดินหน้าต่อเนื่องมายังปัจจุบัน ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนเป็นอีกแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ดึงเม็ดเงินจากต่างชาติเข้ามาสู่ประเทศไทย
นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์
"นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์" ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ได้กล่าวถึงโอกาสและ ศักยภาพทางการค้าของกลุ่มธุรกิจบริการด้านสุขภาพ (เวลเนสส์ แอนด์ เมดิคอล เซอร์วิส) ในประเทศไทยว่า เป็นกลุ่มธุรกิจที่สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศอย่างมหาศาล หากย้อนไปเมื่อปี 2555 ทำรายได้ถึง 140,000 ล้านบาท โดยเป็นรายได้ของโรงพยาบาลเอกชนกว่าครึ่งหนึ่ง
ด้วยความที่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวในระบบประกันสุขภาพพื้นฐานของประเทศมากนัก กลุ่มลูกค้าสำคัญอีกกลุ่มของโรงพยาบาลเอกชนจึงเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวแต่ละปี ยิ่งทำให้ภาพของเมดิคอลทราเวลหรือ เมดิคอลเซอร์วิสชัดเจนขึ้น
เพราะในจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เดินทางเข้ามาในไทย กว่า 6-8% เป็นนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยในช่วงไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา ลูกค้าต่างชาติช่วยให้ผลประกอบการของโรงพยาบาลเอกชนยังเติบโตได้จากไตรมาสก่อนหน้า 8-12% ท่ามกลางกำลังซื้อภายในประเทศที่ถดถอย
สิ่งที่น่าสนใจก็คือการใช้จ่ายต่อบิลการรักษาของลูกค้าต่างชาติที่สูงมาก โดยเฉพาะลูกค้าจากกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูงหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ด้วยโอกาสการลงทุน การเคลื่อนย้ายบุคลากร อาทิ แพทย์ พยาบาล ที่เปิดกว้างขึ้น โลจิสติกส์อาเซียนที่จะเชื่อมกันหมด ทำให้เอื้อต่อการเดินทางข้ามแดนเข้ามารักษามากขึ้น ซึ่งเราได้เปรียบมากในเรื่องของทำเลที่ตั้ง
ในกลุ่มนี้ เมียนมาเป็นลูกค้าอันดับหนึ่งของไทยเพราะเป็นประเทศที่มีประชากรจำนวนมากแต่ยังขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง การเข้ามารักษาในไทยจึงเป็นเคสหนักเกือบทั้งหมด ค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็นหลักล้านบาท ตามมาด้วยกัมพูชาและลาว ขณะที่เวียดนามยังไม่มากนัก
"การข้ามไปเปิดโรงพยาบาลในซีแอลเอ็มวี คงยังไม่เกิดขึ้นตอนนี้ เพราะยังมีปัญหาเรื่องกฎระเบียบ มาตรฐานที่แตกต่างกัน เลยจะเป็นการส่งต่อผู้ป่วยเข้ามาในไทย ซึ่งช่วยนำรายได้เข้าประเทศอีกทางหนึ่ง"
นอกจากนี้ จีนยังเป็นอีกกลุ่มลูกค้าสำคัญที่เดินทางมาเป็นกลุ่ม เน้นตรวจเช็กสุขภาพ ทำทรีตเมนต์ที่เกี่ยวข้องกับการชะลอวัย (แอนไทเอจจิ้ง) ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่มากและกำลังมาแรง
แม้ในภูมิภาคจะมีการแข่งขันจากกลุ่มบริษัทไอเอชเอช เฮลท์แคร์ ของมาเลเซีย ความแข็งแกร่งของโรงพยาบาลสิงคโปร์ ตลอดจนโรงพยาบาลอพอลโลจากอินเดีย ที่สนใจเข้ามาแข่งขันในตลาดอาเซียนเช่นกัน แต่ไทยมีข้อได้เปรียบในเรื่องค่ารักษาพยาบาลที่ถูกกว่า 30-40% ฝีมือของบุคลากร พร้อมทั้งมีมาตรฐานระดับสากล คือ HA, JCI และ DNV ก็มีส่วนช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจเข้ามาใช้บริการในไทยมากขึ้น อย่างอินโดนีเซียที่เป็นลูกค้าหลักของสิงคโปร์ ก็มีแนวโน้มสวิตช์มาใช้บริการในไทยเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงมีข้อจำกัดในเรื่องของจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ ความล่าช้าในการออกวีซ่าสำหรับผู้ป่วย ซึ่งจำเป็นที่ภาครัฐควรจะต้องบูรณาการทั้งระบบเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในภูมิภาค ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพรวมทั้งโรงพยาบาล การวิจัยผลิตยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ อย่างครบวงจร มีแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ที่ชัดเจน สนับสนุนนักท่องเที่ยวทำประกันภัย เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการทำวีซ่าให้กับผู้ป่วยและญาติ ที่ติดตามมา ตลอดจนการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลเอกชน อาทิ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งอาจทำให้ภาคเอกชนหันมาลงทุนมากขึ้น ตลอดจนประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความพร้อมของไทยในเรื่องของบริการสุขภาพในนานาประเทศ
หากแผนภาพใหญ่สำเร็จ นั่นหมายถึงเม็ดเงินมหาศาลที่จะหมุนเวียนอยู่ในประเทศ จากระดับอาเซียน การขยับเป็น เมดิคอลฮับของเอเชีย หรือของโลก ก็อาจไม่ไกลเกินเอื้อม
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 28 - 31 ม.ค. 2559
- 33 views