สธ.นำผู้สัมผัสโรคเมอร์สเสี่ยงสูงเข้าดูแลสังเกตอาการเพิ่มเติมที่สถาบันบำราศฯ เป็นคนขับแท็กซี่และผู้เดินทางจากโอมาน รวม 32 คน จากรายงานผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 40 คน ด้านกรมควบคุมโรคทำหนังสือถึงสายการบินจากพื้นที่เสี่ยงให้คัดกรองผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่อง เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาด

เมื่อวันที่ 25 ม.ค.59 นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อาการผู้ป่วยยืนยันโรคเมอร์สที่นอนพักรักษาตัวที่สถาบันบำราศนราดูรในวันนี้อาการยังทรงตัว มีไข้ต่ำๆ ไอเล็กน้อย ให้ออกซิเจนเช่นเดิม รับประทานอาหารได้ ลุกเดินเข้าห้องน้ำได้ ยังพักรักษาตัวในห้องแยกโรคเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เมื่อเย็นวานนี้ (24 ม.ค.) ทีมสวบสวนโรคได้สอบสวนพบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง นำมาสังเกตอาการเพิ่มเติมอีกที่สถาบันบำราศฯ เป็นคนขับแท็กซี่ และผู้เดินทางชาวโอมาน  

สำหรับการสอบสวนและติดตามผู้สัมผัสโรคเสี่ยงสูง ประกอบด้วย ผู้โดยสาร 22 คน (เป็นคนไทย 4 คน ชาวต่างชาติ 18 คน) คนขับแท็กซี่ 2 คน พนักงานโรงแรม 4 คน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล 11 คน ญาติ 1 คน  ติดตามตัวได้ 32 คน ที่เหลืออยู่ระหว่างการติดตามโดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสถานฑูตและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นๆ คาดว่าจะนำตัวผู้สัมผัสโรคเสี่ยงสูงที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยทุกคน รับไว้สังเกตอาการที่สถานที่เตรียมไว้รองรับ ขณะนี้อยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร 9 คน เป็นญาติ 1 คน คนขับแท็กซี่ 2 คน ผู้ร่วมเดินทางคนไทย 1 คน และชาวโอมาน 5 คน ทุกคนสบายดี ส่วนผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่ำ ได้รายชื่อและดำเนินการติดตาม แนะนำให้แยกตัวเอง ลดการสังคมกับผู้อื่น และติดตามกับเจ้าหน้าที่ทุกวันจนครบ 14 วัน

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค จะทำหนังสือถึงสายการบินที่มาจากพื้นที่เสี่ยงโรคเมอร์สทุกสายการบิน ให้คัดกรองผู้โดยสารเบื้องต้นก่อนขึ้นเครื่องบิน เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคติดต่อที่เป็นอันตรายในประเทศไทย

สถานการณ์ วันที่ 25 มกราคม 2559  

1.พบผู้ป่วยยืนยันในประเทศ 1 ราย เป็นชาย อายุ 71 ปี ชาวตะวันออกกลาง

2.มีรายงานผู้สัมผัสผู้ป่วยเสี่ยงสูง 40 คน อยู่ในสถานที่ที่เตรียมไว้รองรับสังเกตอาการ 32 คน       

3.สถานการณ์ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันที่ 25 มกราคม 2559 องค์การอนามัยโลก พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 1,626 ราย เสียชีวิต 586 รายใน 26 ประเทศ

4.ขออย่าเชื่อข่าวลือจากทุกทาง และโปรดติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุข หากมีข้อสงสัย โทร 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง

กระทรวงการต่างประเทศได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ชี้แจงนานาประเทศถึงสถานการณ์ที่อยู่ภายใต้การควบคุม โดยรัฐบาลไทยได้ดำเนินมาตรการในการรักษาตัวผู้ป่วย ติดตามและเฝ้าระวังผู้ที่มีความเสี่ยงจากการสัมผัสผู้ป่วยทั้งหมดได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง และได้ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคอย่างครอบคลุมตามมาตรฐานสากล

สรุปผลการให้บริการสายด่วน1422 ปรึกษาประชาชนเรื่อง โรคเมอร์ส

ในรอบ 24 ชั่วโมง วันที่ 24 มกราคม 2559 มีผู้โทรสอบถาม สายด่วน กรมควบคุมโรค รวม 168 รายเป็นเรื่องโรคเมอร์ส 68 สาย  คำถามที่ถามมากที่สุด คือ พบผู้ป่วยโรคเมอร์ส รายที่ 2 ในประเทศไทย แล้วต้องเฝ้าระวังโรคอย่างไร สอบถามเที่ยวบินของผู้ติดเชื้อ กังวลใจการติดต่อ รายชื่อประเทศในการเฝ้าระวัง มาตรการควบคุมโรค ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นต้น                                                            

ข้อแนะนำประจำวันในการป้องกันตนเองจากโรคเมอร์ส

1.หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจหรือผู้ที่มีอาการไอหรือจาม

2.ปฏิบัติตามสุขอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่

3.ถ้ามีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสคลุกคลีกับบุคคลอื่น เมื่อไอหรือจามควรใช้กระดาษชำระปิดปากและจมูกทุกครั้ง และทิ้งกระดาษชำระที่ใช้แล้วลงในถังขยะที่ปิดมิดชิดและล้างมือให้สะอาด สวมหน้ากากอนามัย และรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ พร้อมแจ้งความเสี่ยงที่อาจสัมผัสโรค เช่น เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่สงสัยโรคเมอร์ส