โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ เจ๋งพัฒนาจนได้รับรองคุณภาพมาตรฐาน JCI ถือเป็นโรงพยาบาลชุมชนแห่งแรกของไทยที่ผ่านมาตรฐานสุดหิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ ได้รับการรับรองมาตรฐาน JCI ถือเป็นโรงพยาบาลชุมชนแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล หลังจากที่ รพ.ชลบุรี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐและโรงเรียนแพทย์แห่งแรกของไทยได้รับการรับรองมาตรฐานนี้
ทั้งนี้ Joint Commission International (JCI) อยู่ในการกำกับดูแลของ The Joint Commission สถาบันด้านการรับรองคุณภาพมาตรฐานของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เป็นองค์กรอิสระที่ไม่หวังผลกำไร ดำเนินงานมานานกว่า 75 ปี โดยโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองจะต้องมีการให้บริการที่มุ่งเน้นคุณภาพ และความปลอดภัยของผู้ป่วยและผู้รับบริการ ที่ผ่านมาในประเทศไทยมีเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้นที่ได้รับมาตรฐานนี้
นพ.วัฒนา พารีศรี
นพ.วัฒนา พารีศรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ จ.หนองคาย กล่าวว่า โรงพยาบาลมีวิสัยทัศน์ว่าจะต้อง “เป็นโรงพยาบาลภาครัฐสมัยใหม่ ที่ก้าวหน้ามากที่สุดในภูมิภาค” จึงได้พัฒนาโรงพยาบาลให้มีความพร้อมในการให้บริการประชาชนทุกด้าน และการที่ได้รับการรับรองจาก JCI นั้นถือว่าเป็นความท้าทายของโรงพยาบาล เพราะใช้เวลาเพียงปีกว่าๆ ในการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการให้บริการจนได้รับการตรวจรับรองไปเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยใบรับรองมีอายุ 3 ปี จากนี้ไป
“การได้รับการรับรองมาตรฐาน JCI นั้น ถือเป็นหลักประกันให้กับผู้มาใช้บริการว่า โรงพยาบาลของเราจะส่งมอบมาตรฐานการรักษาพยาบาลระดับสากล ให้กับผู้มาใช้บริการ และประชาชนทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนที่มีเงินจ่ายค่ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่เท่านั้น แต่โรงพยาบาลของเราแม้จะเป็นโรงพยาบาลชุมชนของรัฐก็จะมอบมาตรฐานการรักษาอย่างซื่อสัตย์ให้กับทุกคน เพราะหวังว่า จะได้ WIN WIN WIN กันทั้ง 3 ฝ่าย คือ WIN : ประชาชนจะได้รับบริการที่ดี มีความพอใจ WIN : เจ้าหน้าที่มีความสุขในการปฏิบัติงาน และ WIN : องค์กรมีความเข้มแข็งและยั่งยืน” นพ.วัฒนากล่าว
นพ.วัฒนา กล่าวว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ เป็นโรงพยาบาลขนาด 90 เตียงให้บริการผู้ป่วยเฉลี่ย 195 รายต่อวัน ในปี 2557 ได้ให้บริการผู้ป่วยจำนวน 17,657 คน และปี 2558 ให้บริการผู้ป่วยจำนวน 18,501 คน นอกจากการให้บริการผู้ป่วยชาวไทยแล้วยังได้ให้บริการผู้ป่วยจาก สปป.ลาว ที่มาใช้บริการต่อปี (ประเภทผู้ป่วยนอก) ใน ปี 2557 จำนวน 8,579 คน ส่วนปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 10,872 คน โดยเป็นผู้ป่วยในประมาณ 1,000 คนต่อปี มีรายได้จากผู้ป่วยชาว สปป.ลาวประมาณ 40-50 ล้านบาทต่อปี
“การที่เรามีรายได้จากผู้ป่วย สปป.ลาว มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่สาเหตุหลักที่เรามุ่งมั่นในการพัฒนาโรงพยาบาล ให้ได้รับมาตรฐาน JCI เพราะเราเป็นโรงพยาบาลของรัฐที่ไม่ได้แสวงหากำไร แต่เป็นเพราะมาตรฐาน JCI นั้น ตอบโจทย์ด้านความปลอดภัยของผู้ป่วย (Patient Safety) ได้มากที่สุด เพราะมาตรฐานนี้ครอบคลุมทุกด้าน เช่น มาตรฐานการรักษาพยาบาล สิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล อาคาร สถานที่ การจำกัดของเสีย การให้ยา ให้เลือดผู้ป่วย” นพ.วัฒนากล่าวและว่าโรงพยาบาลใช้งบประมาณในส่วนของการตรวจประเมินประมาณ 1.9 ล้านบาท แต่ก็ถือว่าคุ้มค่า เมื่อเทียบกับสิ่งที่ผู้ใช้บริการได้รับ
สำหรับโรงพยาบาลชุมชนอื่นๆ ในประเทศที่เห็นความสำคัญและต้องการได้รับการรับรองจาก JCI นั้น นพ.วัฒนากล่าวว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชน ได้ทำให้เห็นแล้วว่าโรงพยาบาลระดับใดก็สามารถทำได้ แต่ต้องประเมินศักยภาพของโรงพยาบาลก่อนว่ามีความพร้อมหรือไม่ ทั้งด้านบุคลากร สถานที่ ศักยภาพและความสามารถในการรักษาพยาบาล พันธมิตรที่จะมาร่วมมือกันพัฒนา และงบประมาณที่จะใช้ในการปรับปรุงโรงพยาบาลให้ได้มาตฐาน ซึ่งจะใช้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลว่ามีความพร้อมในระดับใด
นพ.วัฒนา กล่าวว่า โรงพยาบาลเริ่มให้บริการตั้งแต่ วันที่ 18 มกราคม 2522 มีการพัฒนาที่ต่อเนื่อง ตั้งแต่ผู้อำนวยการคนก่อน จนเมื่อตนได้เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการเมื่อปี 2535 ก็ได้ต่อยอดสิ่งที่ผู้อำนวยการคนก่อนได้เริ่มเอาไว้ โดยเฉพาะการพัฒนาด้านการผ่าตัด ถือเป็นโรงพยาบาลชุมชนแห่งแรกที่นำเทคนิคการผ่าตัดถุงน้ำดีโดยใช้กล้องวิดีทัศน์ มารักษาผู้ป่วย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2537 ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลที่ทำผ่าตัดถุงน้ำดีโดยใช้กล้องวิดีทัศน์ มากที่สุดในประเทศไทย.
- 571 views