“หมอปิยะสกล” เผย 4 ยุทธศาสตร์ปฏิรูประบบสุขภาพ พัฒนาบริการทุกระดับ รพ.อำเภอมีมาตรฐานเท่า รพ.จังหวัด เพิ่มอัตรากำลังแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เพิ่มงบป้องกันโรค การเงินการคลังแบบ “ดี-ป่วย รวย-จน ช่วยกัน” บริหารจัดการ โดย คกก.กำหนดนโยบายสุขภาพชาติ และ คกก.ระดับเขต จังหวัด อำเภอ ทั้งปรับโครงสร้าง พัฒนากลไกด้านกำลังคน ยา ระบบไอที คุ้มครองผู้บริโภค

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2559 ที่ โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ต จ.ปทุมธานี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บรรยายพิเศษเรื่อง ยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบสุขภาพไทย ในการประชุมวิชาการสมาคมนักบริหารสาธารณสุข ประจำปี 2559 เพื่อให้นักบริหารสาธารณสุขปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างเครือข่ายสุขภาพและแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ร่วมกันตามบริบทของพื้นที่ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน พร้อมมอบโล่เชิดชูเกียรติผู้บริหารดีเด่น

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า การปฏิรูประบบสุขภาพประเทศไทย เป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขเร่งดำเนินการให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งคาดว่าปี 2583 จะมีผู้สูงอายุ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด มีประมาณร้อยละ 20 เป็นกลุ่มติดบ้านติดเตียง โดยมีผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลทางการแพทย์และฟื้นฟูสุขภาพ รวมประมาณ 80,000 คน 

ทั้งนี้นโยบายของรัฐบาลได้เร่งแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพ เน้นลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาล ดูแลประชาชนด้วยบริการขั้นพื้นฐานจนถึงเชี่ยวชาญระดับสูง พัฒนาโรงพยาบาลระดับอำเภอให้มีมาตรฐานเท่ากับโรงพยาบาลจังหวัด พัฒนาศูนย์การแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญระดับสูง 4 สาขาหลัก คือ หัวใจ ระบบประสาท มะเร็ง และทารกแรกเกิด รวมทั้งใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉินได้ทุก รพ.ทั้งรัฐและเอกชนอย่างไม่มีเงื่อนไข และลดข้อจำกัดด้านสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงยาที่มีราคาสูง

โดยกำหนดยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบสุขภาพ 4 ประเด็นหลัก คือ

1.ระบบบริการ เน้นบูรณาการระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ ศูนย์ความเป็นเลิศ และระบบส่งต่อ และตั้งกลุ่มการดูแลปฐมภูมิ (primary care cluster) จังหวัดละ 1 กลุ่ม เน้นในพื้นที่เขตเมือง เพิ่มอัตรากำลังแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว พยาบาลวิชาชีพ ให้มีหมอครอบครัว 1 ทีม ต่อประชากร 10,000 คน

2.งานส่งเสริมสุขภาพ เพิ่มสัดส่วนงบประมาณด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค เน้นสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน โดยเพิ่มการลงทุนในมาตรการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันและควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า และมีระบบสนับสนุนที่ยั่งยืน จากร้อยละ 0.3 เป็นร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) และส่งเสริมให้มีงานส่งเสริมสุขภาพในทุกนโยบายของภาครัฐ

3.การเงินการคลัง เน้นความยั่งยืนของระบบ ให้ประเทศลงทุนได้ระยะยาว ป้องกันครัวเรือนไม่ให้ล้มละลายจากค่าใช่จ่ายสุขภาพมากเกินไป ใช้หลัก “ดี-ป่วย รวย-จน ช่วยกัน” โดยมีระบบสุขภาพที่ทำให้คนไทยมีสุขภาพดี เป็นธรรมและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

4.ระบบบริหารจัดการ ปรับโครงสร้างการบริหารงาน และพัฒนากลไกการทำงาน เช่น กำลังคน ความมั่นคงด้านยา เทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีคณะกรรมการกำหนดนโยบายสุขภาพแห่งชาติ (National Health Policy Board) และคณะกรรมการสุขภาพในระดับเขต จังหวัด และอำเภอ สร้างระบบ e-Health ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้จากฐานเดียวอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการพึ่งพาต่างประเทศ เพิ่มการเข้าถึงยาคนไทย ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้การอภิบาลระบบสุขภาพที่ดี และการบริหารจัดการเป็นธรรม