กระทรวงสาธารณสุข เผยคนไทยป่วยโรคไตวายเรื้อรัง 7.6 ล้านคน สาเหตุจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงเกือบร้อยละ 70 ขยายบริการคลินิกชะลอความเสื่อมของไตไปในโรงพยาบาลอำเภอ ให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการสะดวก ใกล้บ้าน ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเร็วเกินไป
วันนี้ (17 มกราคม 2559) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานสาธารณสุข ปี 2559 ให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุข ที่ โรงพยาบาลวานรนิวาส จ.สกลนคร
รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า โรงพยาบาลวานรนิวาสมีขนาด 90 เตียง ได้รับการพัฒนาให้มีศักยภาพ เป็นที่พึ่งของประชาชนในพื้นที่และอำเภอใกล้เคียงได้เป็นอย่างดี โดยมีบริการในสาขาหลักๆ ที่เป็นปัญหาของพื้นที่ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเรื้อรัง มะเร็ง เป็นต้น โดยเฉพาะสาขาโรคไต ได้มีการพัฒนาทั้งในด้านการรักษาและการป้องกัน มีบริการคลินิกโรคไตเรื้อรัง ( CKD Clinic) ให้บริการผู้ป่วยตามระยะการเสื่อมของไตในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)ทุกแห่ง
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า สาเหตุของโรคไตวายเรื้อรัง มาจากภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วย โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ที่ดูแลตัวเองไม่ดี เช่น รับประทานอาหารรสเค็ม รับประทานยาไม่สม่ำเสมอ ทั่วประเทศมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังประมาณ 7.6 ล้านคน ในจำนวนนี้อยู่ในระยะสุดท้ายกว่า 70,000 คน ที่ต้องรับการฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง สาเหตุจากโรคเบาหวานร้อยละ 40.7 ความดันโลหิตสูงร้อยละ 27.3 สร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วย และเสียค่าใช้ที่นอกเหนือจากค่ารักษา เช่น ค่าเดินทาง การขาดรายได้จากการหยุดงาน โดยรัฐต้องรับผิดชอบค่ารักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ ปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท
ในปี 2559 ได้มีนโยบายเพิ่มการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง เพื่อชะลอความเสื่อมของไตไม่ให้เข้าสู่ระยะสุดท้ายเร็วเกินไป โดยให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน เปิดคลินิกโรคไตเรื้อรัง เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ในสถานบริการใกล้บ้าน
สำหรับที่ อ.วานรนิวาส พบว่า โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่พบ 1 ใน 5 อันดับแรกของแผนกผู้ป่วยนอก และ 1 ใน 10 ของแผนกผู้ป่วยในของโรงพยาบาล โดย 2 โรคนี้มีผู้ป่วยเกือบ 3 หมื่นคนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญพบโรคแทรกซ้อนไตวายเรื้อรังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดปี 2558 มีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง 1,635 คน อยู่ในระยะสุดท้าย 118 คน สร้างความทุกข์ทรมานจากอาการของโรคที่รุนแรงขึ้นตามระยะการเจ็บป่วยของโรค ต้องเข้ารับการรักษาซ้ำๆ ด้วยภาวะซีด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร บวมน้ำเกิน เสียสมดุลของสารน้ำและเกลือแร่ ควบคุมระดับความดันโลหิตไม่ได้
จึงได้พัฒนาระบบบริการล้างไตทางช่องท้องในโรงพยาบาลวานรนิวาสและร่วมกับเอกชนจัดบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เนื่องจากมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังจำนวนมากนิยมรักษาตามอาการ จนเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง จำเป็นต้องได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมก่อนการล้างไตทางช่องท้องถึงร้อยละ 90
นอกจากนี้ ได้เปิดคลินิกโรคไตเรื้อรังบริการผู้ป่วยตามระยะการเสื่อมของไต แยกผู้ป่วยรายตำบล รวมทั้งขยายบริการไปถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั้ง 18 แห่ง ให้บริการวัดค่าดัชนีมวลกาย วัดรอบเอว แนะนำวิธีการใช้ยา การออกกำลังกาย อาหารสำหรับโรคไต เป็นต้น ผู้ป่วยเข้าถึงบริการสะดวกรวดเร็วใกล้บ้าน
- 86 views