กรมควบคุมโรค เร่งรัดมาตรการควบคุมโรคเรื้อนในประชากรต่างด้าว เดินหน้าค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว
เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559 ที่สถาบันราชประชาสมาสัย อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมนายพินิจ หาญพาณิชย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ผู้บริหารกรมควบคุมโรค และคณะกรรมการมูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมเปิดกิจกรรม“16 มกรา วันราชประชาสมาสัย เฉลิมพระเกียรติ 70 ปี แห่งการครองราชย์” และมอบสื่อรณรงค์โรคเรื้อนภาษาต่างด้าวแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดสมุทรปราการ
นพ.อำนวย กล่าวว่า จากพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานในปี 2540 ว่าให้กระทรวงสาธารณสุข และมูลนิธิราชประชาสมาสัยฯ ทำงานต่อไปอย่าหยุดแม้กำจัดโรคเรื้อนได้แล้ว เพราะเป็นโรคเรื้อรังและให้เฝ้าระวังกลุ่มประชากรต่างด้าวที่อาจนำโรคต่างๆ มาแพร่ต่อไปด้วย โดยการค้นหาและให้การรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อนในประชากรต่างด้าวตั้งแต่ปี 2541 พบว่า ผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ในประชากรต่างด้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลตั้งแต่ปี 2541-2557 สามารถค้นพบผู้ป่วยโรคเรื้อนจากประชากรต่างด้าวได้ 475 ราย ดังนี้ เมียนมาร์ 445 ราย, กัมพูชา 12 ราย, ลาว 9 ราย, อินเดีย 5 ราย, จีน 3 ราย และมาลี 1 ราย ส่วนสถานการณ์ผู้ป่วยโรคเรื้อนชาวต่างด้าวในประเทศไทย ในปี 2557 พบผู้ป่วยต่างด้าว แยกเป็นภาคเหนือ 37 ราย, ภาคกลาง 7 ราย และภาคใต้ 2 ราย
ในปีนี้เป็นปีที่เข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการ อาจส่งผลให้โรคเรื้อนซึ่งพบผู้ป่วยน้อยลงและกำลังจะหมดไป กลับพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นจนทำให้โรคกลับมาเป็นปัญหาได้อีก ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค จึงมีนโยบายเร่งรัดการค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ที่ยังตกค้างในชุมชน เพื่อตรวจรักษาให้เร็วที่สุด รวมทั้งพัฒนาความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรเอกชนในพื้นที่ชายแดน และพัฒนาระบบการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าว เพื่อลดการแพร่โรคเรื้อนในชุมชน และลดปัญหาความพิการในผู้ป่วยโรคเรื้อน
นพ.อำนวย กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินงานควบคุมโรคเรื้อนในกลุ่มประชากรต่างด้าว เป็นอีกมาตรการสำคัญที่กรมควบคุมโรคได้เพิ่มความเข้มข้นเพื่อดำเนินงานกำจัดโรคเรื้อน ซึ่งมีการพัฒนาระบบเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคเรื้อนทั้งในกลุ่มแรงงานต่างด้าวและพื้นที่ชายแดน ดังนี้
1.ตรวจสุขภาพก่อนออกใบอนุญาตทำงาน รวมถึงจัดกิจกรรมการอบรมให้ความรู้แก่แพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและคลินิกเอกชน โดยใช้ต้นแบบระบบเฝ้าระวังในประชากรต่างชาติพื้นที่ชายแดนจังหวัดตาก
2.จัดทำแบบคัดกรองโรคเรื้อน 5 ภาษาได้แก่ เมียนมาร์ กัมพูชา ลาว กะเหรี่ยง และยาวี สำหรับใช้ในโรงพยาบาลและสถานประกอบการ ในการคัดกรองผู้มีอาการสงสัยหรือมีโรคผิวหนังเรื้อรัง เพื่อลดปัญหาการสื่อสารในการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวของสถานบริการสาธารณสุข
สำหรับในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ถือเป็นเมืองอุตสาหกรรม ที่มีประชากรย้ายถิ่นจากที่อื่นมาอยุ่ในจังหวัดนี้ และมีประชากรแฝงหรือแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก ทำให้การดูแลด้านสาธารณสุขอาจคลอบคลุมไม่ทั่วถึง ที่สำคัญจากข้อมูล 66 อำเภอเป้าหมายที่มีข้อบ่งชี้ทางระบาดวิทยาใน 35 จังหวัด พบว่า จังหวัดสมุทรปราการ เป็นหนึ่งในอำเภอเป้าหมาย คืออำเภอเมืองและอำเภอพระประแดง ที่มีการรณรงค์เร่งรัดค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ สำหรับการดูแลกลุ่มประชากรต่างด้าว กรมควบคุมโรคได้สนับสนุนมาตรการเฝ้าระวังควบคุมโรคแก่หน่วยงานสาธารณสุขทุกแห่งแล้ว
ขอแนะนำให้ประชาชนทุกคนหมั่นดูแลผิวหนัง ถ้าเป็นโรคผิวหนังที่ไม่คันและรักษาไม่หายภายในเวลา 3 เดือน ให้สงสัยไว้ก่อนว่าจะเป็นโรคเรื้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีอาการผิวหนังเป็นวงด่าง มีอาการชา หรือผื่น ตุ่มแดงไม่คัน ให้รีบไปพบแพทย์ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อรับการรักษา ทั้งนี้ หน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศมีความพร้อมในการให้บริการตรวจคัดกรอง และส่งต่อผู้มีอาการสงสัยไปรับการตรวจวินิจฉัยต่อไป รวมถึงมีการรักษาอย่างมีคุณภาพ ตามมาตรฐานแก่ผู้มารับบริการทุกท่าน ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ประชาชน ชุมชน และบุคลากรสาธารณสุข ได้ร่วมเทิดพระเกียรติและสนองพระราชปณิธานในการกำจัดโรคเรื้อนให้หมดไป โดยในปีนี้มูลนิธิราชประชาสมาสัยฯ ได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ รายละ 2,000 บาท หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
- 55 views