นสพ.ประชาชาติธุรกิจ : "กระทิงแดง" ขายโรงพยาบาลปิยะเวท หลัง 5 ปีรายได้ติดลบต่อเนื่อง-หนี้เก่า ขาดทุนสะสมเฉียดพันล้านบาท "บางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล" เสือซุ่ม ทุ่มงบฯ ก้อนโตต่อยอดธุรกิจ ส่งผู้บริหาร-ทีมงานเข้าไปดูแลตั้งแต่ต้นปี
หลังจากตระกูลอยู่วิทยา เจ้าของอาณาจักรเครื่องดื่มชูกำลัง "กระทิงแดง" ได้สร้างความฮือฮาให้กับแวดวงธุรกิจ ด้วยการเข้าซื้อหุ้นโรงพยาบาลปิยะเวท จากกลุ่มนายแพทย์บุญ วนาสิน เมื่อประมาณ 5-6 ปี พร้อมกับประกาศจะผลักดันให้ปิยะเวท เป็นโรงพยาบาลระดับท็อปไฟฟ์ภายใน 5 ปี แต่ล่าสุดกลุ่มกระทิงแดงได้ถอนตัวออกจากธุรกิจนี้แล้ว
แหล่งข่าวจากสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อเร็วๆ นี้กลุ่มตระกูลอยู่วิทยา หรือกลุ่มกระทิงแดง ผู้ถือหุ้นใหญ่โรงพยาบาลปิยะเวท ได้ขายหุ้นให้กับโรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล ที่บริหารโดยรองศาสตราจารย์พิทยา และแพทย์หญิงเจรียง จันทรกมล และเป็นกลุ่มที่มีโรงพยาบาลในเครืออีกหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลบางปะกอก 1, บางปะกอก 3, บางปะกอก 8 ซึ่งคาดว่าการซื้อขายครั้งนี้น่าจะมีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านบาท
แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่ผ่านมากลุ่มโรงพยาบาลบางปะกอก ซึ่งเน้นการให้บริการอยู่ในเขตกรุงเทพฯ รอบนอกเป็นหลัก ครอบคลุมย่านบางปะกอก, พระประแดง, เอกชัย-บางบอน และบางมด เป็นกลุ่มที่น่าจับตา มีศักยภาพสูง มีผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และขยายตัวอย่างรวดเร็ว
"สาเหตุที่กลุ่มกระทิงแดงตัดสินใจขายปิยะเวท อาจจะมาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะภาระหนี้เดิมตอนที่ซื้อมา มีตัวเลขขาดทุนสะสมประมาณ 800-900 ล้านบาท และย่านดังกล่าวมีการแข่งขันสูง เนื่องจากมีคู่แข่งทั้งโรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลพระราม 9 ซึ่งมีความแข็งแกร่งทั้งในแง่ของบริการและทีมงาน"
"ประชาชาติธุรกิจ" ได้สอบถามเรื่องการขายหุ้นไปยังผู้บริหารระดับสูง บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด และได้รับคำยืนยันจากผู้บริหารระดับสูงเพียงสั้นๆ ว่า "ได้ขายหุ้นโรงพยาบาลปิยะเวทไปแล้ว"
สอดคล้องกับแหล่งข่าวระดับสูงจากโรงพยาบาลปิยะเวท ที่กล่าวถึงเรื่องนี้กับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา กลุ่มโรงพยาบาลบางปะกอกได้เริ่มส่งผู้บริหารและทีมงานเข้ามาบริหารงานและดูแลกิจการแล้ว โดยได้มีการชี้แจงนโยบาย พร้อมวางแผนการดำเนินงาน ซึ่งเบื้องต้นจะยังเน้นจับลูกค้าระดับกลางถึงบน ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยมีแผนจะทุ่มงบประมาณเพื่อรีโนเวตโรงพยาบาลให้มีความทันสมัย มากขึ้น
ควบคู่กันนี้ก็จะเร่งการพัฒนาคุณภาพ และความปลอดภัยในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย เพื่อให้ได้การรับรองมาตรฐานคุณภาพ The Joint Commission International หรือ JCI เพื่อรองรับการแข่งขัน และจะเป็นใบเบิกทางที่จะช่วยให้การทำตลาดกับกลุ่มลูกค้าชาวต่างประเทศทำได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ ในระยะกลางยังมีแผนจะไปโรดโชว์เพื่อดึงลูกค้าต่างประเทศทั้งยุโรปและตะวันออกกลาง รวมทั้งจะเปิดให้บริการลองสเตย์ เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุด้วย สำหรับแผนในระยะยาวยังเตรียมจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนเพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มตระกูลอยู่วิทยา กระทิงแดง ที่นำโดยนายเฉลียว อยู่วิทยา ได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่โรงพยาบาลปิยะเวทเมื่อช่วงปลายปี 2552 ที่ผ่านมาด้วยการซื้อหุ้นจากกลุ่มนายแพทย์บุญ วนาสิน และกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี รวมเป็นสัดส่วนประมาณ 90% จากเดิมที่ถืออยู่ 40% และได้ส่งนายจิรวัฒน์ อยู่วิทยา ไปนั่งเป็นประธานกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมกับดึงศาสตราจารย์นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เข้ามาช่วยบริหารในตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร
จากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ณ วันที่ 25 ธันวาคม บริษัท โรงพยาบาลปิยะเวท จำกัด (มหาชน) มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ประกอบด้วย 1.บริษัท มดหมอ จำกัด 19% 2.นายจิรวัฒน์ อยู่วิทยา 13% 3.นางสาวนุชรี อยู่วิทยา 12% 4.นางสาวปนัดดา อยู่วิทยา 12% 5.นายสราวุฒิ อยู่วิทยา 12% 6.นางสาวสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา 12% และ 7.นางสาวสุปรียา อยู่วิทยา 12%
สำหรับผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลปิยะเวท ที่แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2553-2557) ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2553 ขาดทุน 135 ล้านบาท ปี 2554 ขาดทุน 173 ล้านบาท ปี 2555 ขาดทุน 141 ล้านบาท ปี 2556 ขาดทุน 110 ล้านบาท และปี 2557 ขาดทุน 139 ล้านบาท
นอกจากการขยายเครือข่ายของกลุ่มโรงพยาบาลบางปะกอก 9 ดังกล่าวแล้ว ที่ผ่านมากลุ่มโรงพยาบาลใหญ่ก็มีการขยายเครือข่ายเพิ่มอย่างต่อเนื่อง อาทิ กลุ่ม โรงพยาบาลกรุงเทพ ที่ผ่านมาได้ขยายเครือข่ายในต่างจังหวัดที่เป็นเมืองรอง ด้วยการซื้อกิจการโรงพยาบาลสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม, โรงพยาบาลเมืองราช จังหวัดราชบุรี, ภูเก็ต อินเตอร์เนชั่นแนล ฮอสปิตอล จังหวัดภูเก็ต ขณะที่กลุ่มเกษมราษฎร์ (บางกอก เชน ฮอลปิทอล) ได้ซื้อกิจการโรงพยาบาลโสธราเวช จังหวัดฉะเชิงเทรา รวมทั้งซื้อกิจการบริษัท นวนครการแพทย์ จำกัด ผู้ดำเนินกิจการโรงพยาบาลการุญเวช ปทุมธานี และการุญเวช อยุธยา ล่าสุดเพิ่งเปิดสาขาที่ถนนรัตนาธิเบศร์ จังหวัดนนทบุรี ส่วนโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้เข้าไปถือหุ้นพิษณุเวช จังหวัดพิษณุโลก เป็นต้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 14 - 17 ม.ค. 2559
- 3228 views