สปสช.พัฒนาระบบติดตามการเบิกจ่ายเงินกองทุน (E-Financial Tracking) ต่อยอดจากระบบเบิกจ่ายค่าชดเชยทางการแพทย์ (E-Claim) ที่ รพ.ทำเรื่องเบิกจ่ายเข้ามา พร้อมแก้ไขปรับปรุงในส่วนที่เคยเป็นปัญหา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบข้อมูลการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ ช่วยให้ รพ.ติดตามสถานะการรับเงินชดเชยกองทุนย่อยผู้ป่วยแต่ละรายอย่างถูกต้องครบถ้วน ชัดเจน และตรวจสอบ รพ.ง่ายต่อการบันทึกบัญชี
ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช
ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการเบิกจ่ายค่าชดเชยบริการทางการแพทย์ของผู้ป่วยแต่ละรายในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ผ่านมานั้น อาจเข้าเงื่อนไขการจ่ายชดเชยบริการได้จากหลายกองทุนย่อยภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังนั้น หน่วยบริการจึงมีโอกาสได้รับเงินชดเชยค่าบริการทางการแพทย์หลายครั้งตามรอบของการประมวลผลของแต่ละกองทุน ส่งผลให้หน่วยบริการได้รับเงินชดเชยในผู้ป่วยรายเดียวกันไม่พร้อมกัน ยากต่อการติดตามและกระทบยอดทางบัญชีว่าผู้ป่วยรายนั้นๆ ได้รับการโอนเงินครบถ้วนตามรายงานประมวลผลหรือไม่
ด้วยเหตุนี้ สปสช.จึงได้พัฒนาต่อยอดระบบการเบิกจ่ายค่าชดเชยบริการทางการแพทย์แบบไร้รอยต่อ (Seamless operation) ไปสู่ “ระบบติดตามการเบิกจ่ายเงินกองทุน” หรือ “E-Financial Tracking” เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดตามสถานะของการทำงานผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ตั้งแต่การประมวลผลจนถึงขั้นตอนการโอนเงินได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง ครบถ้วนในแต่ละช่วงของกระบวนการทำงาน ด้วยรายงานการจ่ายเงินแบบใบกำกับการจ่าย (Invoice) ซึ่งมีการบูรณาการข้อมูลการจ่ายชดเชยจากแต่ละกองทุนย่อยเพื่อแสดงผลพร้อมกัน
ภญ.เนตรนภิส กล่าวว่า ผลที่ได้จากการพัฒนาระบบ E-Financial Tracking นี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการระบบข้อมูลการเบิกชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ โดยใช้กระบวนการทำงานแบบไร้ร้อยต่อ (Seamless Operation) ตอบสนองความต้องการติดตามข้อมูลการประมวลชดเชยค่าบริการทางการแพทย์รายบุคคล และกำกับการรับเงินชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ของหน่วยบริการให้ครบถ้วน ถูกต้อง ทั้งผู้รับผิดชอบงานการเบิกชดเชยและเจ้าหน้าที่บัญชี และยังช่วยแก้ปัญหาการจ่ายชดเชยค่าบริการที่ซ้ำซ้อนกรณีการเบิกจ่ายผ่านหลายระบบหรือหลายกองทุน
“นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาระบบการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ให้กับหน่วยบริการ โดย สปสช.ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยการแก้ไขปรับปรุงในส่วนที่เป็นปัญหา เพื่อให้หน่วยบริการทุกระดับ ทั้งภาครัฐและเอกชนมีความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลการชดเชยและง่ายต่อการบันทึกบัญชีที่ถูกต้อง ตรงกัน ขณะเดียวกันจะทำให้หน่วยบริการเห็นตัวเลขการจ่ายชดเชยค่าบริการทางการแพทย์รายบุคคลที่ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ผู้ป่วยแต่ละรายที่ส่งเบิกชดเชยจะได้รับการชดเชยจากกองทุนใดบ้าง และยังสามารถติดตามสถานะการจ่ายชดเชยว่าเรื่องที่ส่งเบิกอยู่ในขั้นตอนใด โดยการเรียกดูตามหมายเลขอ้างอิงหรือ REP_NO เป็นการสร้างความเข้าใจระหว่างหน่วยบริการและ สปสช.ได้ดียิ่งขึ้น” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว.
- 44 views