กระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูลศึกษาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในสังกัด 8 แห่ง พบว่าผู้บาดเจ็บสาหัส กลายเป็นผู้พิการถึงร้อยละ 4.6 เสียชีวิตในโรงพยาบาลร้อยละ 5.6 สาเหตุเกิดจากขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกกันน็อค ส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าครอบครัว สูญเสียค่าใช้จ่าย 2.7 ล้านบาทต่อคนพิการ 1 คนต่อปี
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้ความปลอดภัยทางถนน เป็นนโยบายสำคัญและเร่งด่วนในปี 2559 วางแผนการดำเนินงานเชิงรุกตลอดทั้งปี เพื่อลดการเสียชีวิตและความพิการที่ตามมา โดยสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ได้ศึกษาความพิการที่จากการเกิดอุบัติเหตุจราจร โดยเก็บข้อมูลจาก 8 โรงพยาบาลขนาดใหญ่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ รพ.เลิดสิน รพ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี รพ.ราชบุรี รพ.ชลบุรี รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก รพ.ขอนแก่น รพ.มหาราชนครราชสีมา จ.นครราชสีมา และ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช ในปี 2548-2549
พบว่า ผู้บาดเจ็บที่อาการสาหัสจากอุบัติเหตุจราจร เสียชีวิตภายในโรงพยาบาลร้อยละ 5.6 ส่วนผู้บาดเจ็บภายหลังการรักษา 2 ปี มีความพิการถาวรร้อยละ 4.6 พิการทางการเคลื่อนไหวมากที่สุด ร้อยละ 75.6 เช่น กระดูกหัก บาดเจ็บทางศีรษะ บาดเจ็บไขสันหลัง แขน-ขาขาด รองลงมาคือความพิการทางการมองเห็น และความพิการทางจิตใจเท่ากันคือ ร้อยละ 7.4 และพิการในการได้ยินร้อยละ 5 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในวัยทำงานและเป็นหัวหน้าครอบครัว คิดมูลค่าความเสียหายเป็นเงิน 2.7 ล้านบาทต่อคนพิการ 1 คนต่อปี
สำหรับข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 จากศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ได้สรุปข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2558-5 มกราคม 2559 มีผู้บาดเจ็บที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล 26,583 คน เสียชีวิต 380 คน ผู้บาดเจ็บนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 3,505 คน มีการนำผู้บาดเจ็บส่งรักษาต่อ 2,515 คน โดยทีมแพทย์ฉุกเฉินที่ได้รับแจ้งทางสายด่วน 1669 ได้ออกช่วยเหลือผู้ได้เจ็บ ณ จุดเกิดเหตุได้ถึง 10,163 คน
- 3 views