เดอะ คอนเวอร์เซชั่น: ระบบบริการสาธารณสุขของสหราชอาณาจักรนั้น มีหลักการดูแลโดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ทั้งการร่วมหารือกับผู้ป่วยเพื่อศึกษาความต้องการ แบ่งปันข้อมูลกับผู้ป่วย และให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจซึ่งจะมีผลต่อการดูแลที่ผู้ป่วยได้รับ ซึ่งนับเป็นหลักสำคัญของการให้บริการดูแลสุขภาพที่เปี่ยมด้วยคุณภาพ โดยมีความพยายามส่งเสริมให้แพทย์และบุคลากรสุขภาพนำหลักการนี้ไปใช้ในการปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วยทุกคน แต่ถึงกระนั้นการกำหนดนโยบายและแนวทางเวชปฏิบัติก็ยังคงต้องอยู่อาศัยหลักฐานเชิงประจักษ์

นักวิจัยสามารถนำข้อมูลประสบการณ์ของผู้ป่วยในแต่ละแง่มุมมาใช้ประกอบการร่างนโยบายและแนวทางปฏิบัติ ตัวอย่างเช่น การสำรวจความคิดเห็นจากผู้ป่วยที่เพิ่งออกจากโรงพยาบาลในทั่วประเทศ จะชี้ให้เห็นภาพรวมด้านทัศนคติของผู้ป่วยต่อการดูแลที่ได้รับ

จากนั้นจึงนำข้อมูลเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการระบบบริการสาธารณสุขแห่งชาติ (NHS) แต่ละชุด เพื่อจัดทำเป็นแผนยกระดับคุณภาพ อย่างไรก็ดีแนวทางนี้ก็ยังคงมีข้อจำกัดบางประการ เนื่องจากข้อมูลที่ได้รับนั้นเป็นการตอบตามประเด็นคำถามที่ผู้ออกแบบสำรวจเห็นว่าเป็นข้อสำคัญ ซึ่งบางครั้งก็เจาะจงไปที่ประชากรกลุ่มย่อย อีกทั้งยังจำกัดโอกาสในการให้ผู้ป่วยชี้แจงเหตุผลของการให้คะแนนและให้ข้อเสนอแนะถึงแนวทางการปรับปรุงแก้ไข

ข่มตาหลับท่ามกลางเสียงอื้ออึง

จากอุปสรรคดังกล่าวจึงนำมาสู่บทบาทของการวิจัยเชิงคุณภาพหรือเชิงผสมผสาน โดยการตั้งคำถามต่อกลุ่มบุคคลหรือกลุ่มผู้ป่วยขนาดเล็กถึงสิ่งที่พวกเขามองว่ามีความสำคัญ แนวทางแบบล่างขึ้นบนนี้จะช่วยให้กำหนดหัวข้อคำถามในแบบสำรวจได้ตรงกับสิ่งที่ผู้ป่วยเห็นว่ามีความสำคัญ โดยผู้เขียนและคณะสามารถใช้แนวทางนี้รวบรวมข้อมูลประสบการณ์ของผู้ป่วยต่อการดูแลในบริบทที่แตกต่างกัน ดังเช่น การตรวจคัดกรองเชื้อดื้อยา (Methicillin-resistant Staphylococcus aureus: MRSA) หรือเอ็มอาร์เอสเอ และการลดเสียงรบกวนในเวลากลางคืน

จากกรณีหลังนั้น ผลสำรวจจากผู้ป่วยโดย NHS ของสกอตแลนด์ชี้ว่า เสียงรบกวนในเวลากลางคืนเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้ป่วย อย่างไรก็ดีผู้เขียนและคณะยังไม่ทราบสาเหตุของเสียงรบกวน ความถี่ของการเกิดเสียงรบกวน หรือระดับความน่ารำคาญของเสียงรบกวน จึงทำให้ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอสำหรับคลี่คลายปัญหาเสียงรบกวนแก่ผู้ป่วย แม้ได้ทราบแล้วว่าเสียงรบกวนเป็นปัญหา

ผู้เขียนและคณะโดยความร่วมมือจากคณะกรรมการเอ็นเอชเอสชุดใหญ่ (NHS Greater Glasgow & Clyde) ได้จัดตั้งโครงการวิจัยซึ่งใช้การสัมภาษณ์ผู้ป่วยเพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงลึกถึงปัญหาที่รบกวนการนอน และทำให้พบว่า ผู้ป่วยรำคาญกับเสียงรบกวนจากตัวบุคลากร ทั้งระหว่างที่พูดคุยกันหรือเดินเสียงดังผ่านไปมา รวมถึงเสียงรบกวนจากรถเข็น เสียงโทรศัพท์ เสียงกรนและเสียงโหวกเหวกโวยวายของผู้ป่วยคนอื่นการรับมือกับผู้ป่วยฉุกเฉิน และจากสภาพแวดล้อม เช่น เปิดสวิทช์ไฟ

ผู้เขียนและคณะได้ร่วมมือกับกลุ่มผู้ป่วยและบุคลากรประจำหอผู้ป่วยเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาเสียงรบกวน และจากการติดตามผลก็พบผลลัพธ์ที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนในแง่เสียงรบกวนจากตัวบุคลากร เช่น เสียงรบกวนจากการพูดคุยกัน หรือรับโทรศัพท์ช้า ซึ่งชี้ว่าข้อมูลประสบการณ์ของผู้ป่วยนั้นมีบทบาทในการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา

สาเหตุที่การตรวจคัดกรองการติดเชื้อที่พบบ่อย เช่น เอ็มอาร์เอสเอเป็นนโยบายหลัก ก็เนื่องจากความจำเป็นในการป้องกันการระบาดของเชื้อในหมู่ผู้ป่วย และการประเมินคุณภาพการดูแลซึ่งมักใช้อัตราการติดเชื้อเป็นตัวชี้วัด 

อย่างไรก็ดีจากการศึกษาประสบการณ์ผู้ป่วยในแง่การตรวจคัดกรองเชื้อเอ็มอาร์เอสเอชี้ว่า ผู้ป่วยอาจไม่ได้รับการชี้แจงสาเหตุของการตรวจคัดกรอง ผู้ป่วยแทบไม่ทราบผลตรวจ และผู้ป่วยไม่ได้รับทราบข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับแนวทางการดูแลในกรณีที่ตรวจพบเชื้อเอ็มอาร์เอสเอ

ข้อมูลประสบการณ์ผู้ป่วยจากการศึกษาดังกล่าว ได้นำมาสู่การพัฒนาเครื่องมือด้านการศึกษาสำหรับบุคลากรของ NHS เพื่อที่จะปรับปรุงการสื่อสารกับผู้ป่วยในประเด็นการตรวจคัดกรองเชื้อเอ็มอาร์เอสเอ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายนี้ ได้ย้ำให้เห็นนัยสำคัญของการสื่อสารกับผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อยกระดับคุณภาพการดูแล

ตัวอย่างของการนำข้อมูลวิจัยมาใช้ ในฐานะข้อมูลหลักฐานประสบการณ์การดูแลที่ผู้ป่วยได้รับทั้ง 2 กรณีชี้ให้เห็นความสำคัญของการสืบเสาะปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยในบริบทที่แตกต่างกัน ซึ่งหากเรามุ่งมั่นที่จะให้บริการที่เป็นการดูแลโดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริงนั้น ก็จำเป็นที่แพทย์จะต้องรับฟังเสียงของผู้ป่วยแต่ละคนเพื่อที่จะให้การดูแลรักษาอย่างดีเยี่ยมในระดับตัวต่อตัว

ขณะที่ตัวนโยบายการดูแลสุขภาพเองก็ต้องยืนอยู่บนพื้นฐานข้อมูลเชิงประจักษ์จากประสบการณ์ของผู้ป่วยต่อการดูแลในแต่ละบริบท

เกี่ยวกับผู้เขียน

เคย์ เคอร์รี่ อาจารย์ด้านวิจัยประยุกต์ทางสาธารณสุข มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ คาเลโดเนียน ประเทศสกอตแลนด์

ที่มา : The Conversation